รฟท.เร่งพัฒนาลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สถานีสะพลีรองรับขนส่งทุเรียนไปจีน ใช้ทางคู่"ประจวบฯ- ชุมพร"ลดเวลา 2 วัน "สุรพงษ์"ดันเป็น"ศูนย์กระจายสินค้าทางรถไฟภาคใต้"สั่งศึกษาทางรถไฟเลี่ยงเมืองเชื่อมชุมทางหนองปลาดุกกับบ้านภาชี แก้ปัญหาไม่ต้องผ่านสะพานพระรามหก
วันนี้ (15 มิถุนายน 2567) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมติดตามความคืบหน้าการเปิดเดินรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพรและการพัฒนาลานกองเก็บสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard :CY) ที่สถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่สำหรับรองรับการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์อยู่แล้ว โดยมีเอกชนผู้ประกอบการ 2 รายมาใช้บริการขนส่งยางพาราบรรจุใส่ตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (reach stacker) จำนวน 1 คัน เพื่อยกขึ้นแคร่บรรทุกสินค้าตู้คอนเนอร์ (บทต.) ในการขนส่งทางรถไฟอยู่แล้ว
โดย ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูที่ทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชุมพรมีปริมาณมากเพียงพอที่จะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ปีที่ผ่านมาได้มีการขนส่งทุเรียนทางรางไปคุณหมิงและกวางโจ สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2566 รวมประมาณ 150 ตู้ และปีนี้เริ่มขนส่งทุเรียนจากภาคตะวันออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนทางรถไฟประมาณ 300 ตู้แล้ว และได้มีการขนส่งทุเรียนใส่ตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟเส้นทางสะพลี-มาบตาพุด ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา จำนวน 15 ตู้ต่อครั้ง วิ่งวันเว้นวัน เพื่อไปรวมกับทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกก่อนขนส่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป
ปัจจุบัน การรถไฟฯ ด้มีการเปิดใช้ทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ประกอบกับได้เปิดใช้ทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ- ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตรเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางรถไฟรวดเร็วขึ้น ประกอบกับปัจจุบันสถานีสะพลีเป็นจุดขนถ่ายตู้สินค้าที่ใกล้อำเภอหลังสวนที่มีจำนวนล้งทุเรียนอยู่จำนวนมากและมีพื้นที่ลานกองเก็บตู้สินค้า 9,000 ตารางเมตร สามารถพัฒนาเป็น "ศูนย์กระจายสินค้าทางรถไฟภาคใต้" ได้ ทางบริษัท GML จึงมีแผนที่จะขนส่งทุเรียนด้วยตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟ เส้นทางสะพลี-หนองคาย ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อส่งต่อไปยังนครคุณหมิง และอีก 4 มณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน
@เดินหน้าพัฒนา ลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สถานีสะพลี
กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัท GML จึงประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับปรุงลานกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) ที่สถานีสะพลีเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างพร้อมปลั๊กเสียบเพื่อรองรับตู้คอนเทนเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) การติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด และเพิ่มรถยกตู้คอนเทนเนอร์ (reach stacker) เพื่อรองรับการขนส่งทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งปรับตารางเวลาเดินรถไฟขบวนขนส่งทุเรียนเพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งเส้นทางสะพลี-หนองคาย จากเดิม 4 วัน เหลือ 2 วัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการขนส่งสินค้าทางราง ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนและลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการขนส่ง
@สั่งศึกษา ทางรถไฟเลี่ยงเมื่อเชื่อมชุมทางหนองปลาดุกกับชุมทางบ้านภาชี ไม่ผ่านสะพานพระรามหก
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกยังต้องผ่านสะพานพระรามหก ซึ่งมีข้อจำกัดไม่สามารถเดินขบวนรถไฟสวนกันบนสะพานพระรามหกได้ รวมทั้งการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัด จึงติดเรื่องเวลาการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครได้เฉพาะช่วงเวลา 22.00-04.00 น. จึงได้มอบหมายให้ รฟท.ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางสายใหม่ เชื่อมชุมทางหนองปลาดุกกับชุมทางบ้านภาชี ซึ่ง ปัจจุบันมีทางรถไฟเลี่ยงเมือง (chord line) ที่เป็นทางคู่เชื่อมต่อไปยังภาคต่างๆ ได้สะดวก โดยรฟท. ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 แล้วอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึษา และขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อออกแบบรายละเอียด ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากนั้นนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ พร้อมคณะได้เดินทางโดยขบวนรถไฟพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM ไปยังสถานีทุ่งมะเม่า ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นทางรถไฟใกล้ชายทะเล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สอดรับกับนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล และที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เมื่อตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาเพื่อมุ่งนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เป้าหมายสำคัญจะต้องทำให้ รฟท. กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางรางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ให้ รฟท. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเส้นทางท่องเที่ยวให้สามารถจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน และได้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศด้วย
โดยเมื่อเปิดใช้รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม - ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วยระบบรถไฟทางคู่ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา สามารถเชื่อมต่อการขนส่งและเส้นทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะสถานีหัวหิน สถานีประจวบคีรีขันธ์ และสถานีทุ่งมะเม่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ใกล้ชายทะเล ซึ่งได้ตนได้มอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประสานงานกับการรถไฟฯและท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ผ่านการประชุมระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อนพิจารณาจัดรถขนส่งสาธารณะมารองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ให้บริการเดินรถขนส่งสาธารณะ (operator) โดยขออนุญาตกรมการขนส่งทางบกผ่านคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ที่กำหนดลักษณะรถและเส้นทางการเดินรถขนส่งสาธาณะ ก่อนดำเนินการต่อไป
พร้อมทั้งมอบหมายให้ รฟท.จัดเตรียมพื้นที่บริเวณย่านสถานีรถไฟที่สำคัญ เพื่อรองรับเป็นที่จอดระบบขนส่งสาธารณะ (feeder) ในรูปแบบขนส่งแบบไร้รอยต่อระหว่ารถกับราง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศได้เป็นอย่างดีต่อไป