‘พีระพันธุ์’ จ่อตั้ง "สสนช." องค์กรใหม่ดูแลระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ พร้อมเตรียมร่างกฎหมายแยกค่านายหน้าซื้อขายน้ำมันดิบและค่าใช้จ่ายอื่นจากต้นทุนน้ำมัน อ้างลดภาระให้ประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 15/2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาร่างแนวทางการจัดตั้งสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเชื้อเพลิงของประเทศไทย
ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่านายหน้าจากการซื้อขายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นในประเทศไทย โดยนายพีระพันธุ์กำลังยกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนำ “ค่านายหน้า” และค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ ”ค่าใช้จ่ายโดยตรง“ ในการได้มาซึ่งน้ำมันมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้
“ถ้าเรามีกฎหมายแยกไว้เฉพาะ โดยกําหนดไว้ว่าสิ่งที่คุณจะมาบวกเป็นต้นทุนน้ำมัน คือ 1. ค่าน้ำมันจริงๆ 2. ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนเขาจะมีค่านายหน้าหรืออ้างค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเนื้อน้ำมันแท้ๆ ก็มีไป แต่เอามารวมไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย และ สปป.ลาว รวมถึง กฎหมายพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคาน้ำมัน และกฎหมายพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ ทั้งด้านรูปแบบการจัดเก็บ ที่มาของเนื้อน้ำมัน โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บ แหล่งเงิน การบริหารจัดการ และองค์กรที่กำกับดูแล เพื่อร่างแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในภาพรวมไม่น้อยกว่า 90 วัน (ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายโดยภาคเอกชนอยู่ที่ 25 วัน) โดยกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้จะดำเนินการผ่าน สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ทำหน้าที่กำกับและออกคำสั่งไปยังภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของภาครัฐ
สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะเริ่มต้นนั้น จะมีการร่างกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 6 ฉบับ และจะมีการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งการเตรียมการจัดหาพื้นที่สำหรับการเก็บสำรองน้ำมัน