xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เปิดฟังเสียงนักลงทุน "แลนด์บริดจ์" ดันประมูลปี 68 เร่ง EHIA-คลอด พ.ร.บ.SEC ขับเคลื่อน PPP 50 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข.เปิดเวที Market Sounding "แลนด์บริดจ์" ฟังเสียงนักลงทุน บิ๊กเนม จีน ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ร่วมคึกคัก "มนพร" เร่งดัน พ.ร.บ. SEC เข้าสภาฯ และชง EHIA คาดเปิดประมูลเฟสแรกปลายปี 2568 แพกเกจเดียวพัฒนาท่าเรือ รถไฟ มอเตอร์เวย์

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Landbridge) ซึ่งการรับฟังความเห็นครั้งนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายที่กำลังร่างอยู่ คือ ร่างพ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

ทั้งนี้ นอกจากการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว ในอีกด้านหนึ่งจะต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) คู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งตามไทม์ไลน์กระทรวงคมนาคมจะประชุมเพื่อสรุปร่างทั้งหมดเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงเดือน ก.ย. 2567 นี้ จากนั้นจะวางกรอบเวลาในการเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาทั้ง 3 วาระ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการจัดตั้ง SEC ซึ่งจะทันกับการประมูลโครงการแลนด์บริดจ์เฟสแรกในช่วงปลายปี 2568


ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ในงบประมาณปี 2568 สนข.เตรียมขอจัดสรรงบประมาณในการจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำร่าง TOR โครงการแลนด์บริดจ์ในระยะที่ 2 ซึ่งกระแสตอบรับจากประเทศต่างๆ หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำโครงการไปโรดโชว์นั้น เบื้องต้นแต่ละประเทศที่ไปยังไม่ได้ให้ข้อสังเกตเท่าไหร่ เพราะรูปแบบลงทุนของโครงการแต่ละประเทศก็เพิ่งส่งตัวแทนเข้ามาร่วม Market Sounding ในครั้งนี้

สำหรับ Business Model เบื้องต้น สนข.จะเปิดให้มีการประมูลแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยให้ทางเอกชนรวมกลุ่มกันมาเป็นกิจการค้าร่วม (Consortium) กลุ่มเดียวเข้ามาบริหารจัดการโครงการ โดยองค์ประกอบของเอกชนที่จะมาร่วมอาจจะมีทั้งผู้ที่ชำนาญการในการบริหารท่าเรือ ผู้ชำนาญด้านการเดินเรือ และธุรกิจต่างๆ ร่วมกัน ร่วมกันบริหารท่าเรือทั้ง 2 ท่า ทางรถไฟ และมอเตอร์เวย์ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ ให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี และจะเปิดประกาศประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) ด้วย


“รูปแบบการลงทุนเราชัดเจนอยู่แล้ว แต่การจัด Market Sounding ก็เพื่อต้องการเพิ่มเติมความต้องการของนักลงทุนไทยและเทศว่าเขามีอะไรที่จะให้กระทรวงสนับสนุนไหม สิทธิพิเศษต่างๆ เพราะบางทีต่างประเทศอาจจะมีความไม่สบายใจที่จะมาทำงานในประเทศอื่น ซึ่งเราต้องฟังเขา” นายปัญญากล่าว

ส่วนระยะเวลาของการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ที่ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 กำหนดไว้ 4 ระยะนั้น ผู้อำนวยการ สนข.ระบุว่า สิ่งที่กำหนดไว้เดิมเป็นผลการศึกษาของ สนข.ที่มีมาแต่เดิม แต่บางทีนักลงทุนอาจจะมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่จะนำเสนอได้ บางคนมีตู้สินค้าในมือมาก อาจจะทำเยอะกว่าผลการศึกษาก็ได้ ซึ่งการ Market Sounding ครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้เอกชนที่มาออกความเห็นทั้งหมดอย่างเสรี

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) นายปัญญาระบุว่า อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ของที่ปรึกษาเพื่อสำรวจเชิงลึก ซึ่งปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องสิทธิของประชาชนในพื้นที่ โดยกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างสำรวจเพื่อตรวจสอบสิทธิ จัดทำบัตรประชาชนให้ประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด และการเสียที่ดินทำกิน ซึ่งก็อยู่ระหว่างสำรวจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมฟังความเห็นที่ต่างไปของประชาชน

ส่วนการวางแนวท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ในโครงการได้เตรียมพื้นที่ไว้ เพราะเมื่อโรงงาน ท่าเรือ ก็ต้องเติมน้ำมันให้เรือก็เท่านั้น


@คาด EHIA ผ่านปลายปี 68

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า ในการจัดทำรายงาน EHIA ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อขอบเขตการศึกษา (PP1) ดำเนินการเสร็จแล้ว ขณะนี้กำลังจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฯ (PP2) อยู่ ซึ่งจะลงรายละเอียดกลุ่มย่อยลงไปอีก หลังจากนั้นจะนำมาจัดทำเป็นมาตรการในรายงาน EHIA ที่ผู้ลงทุนจะต้องทำตาม และจะจัดทำการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 (PP3) ซึ่งจะเป็นการสรุปมาตรการ ความเห็นทั้งหมด ก่อนจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ ช่วงปลายปี 2567 น่าจะทำรายงาน EHIA เสร็จ จะเสนอไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยคาดว่าจะเสร็จพร้อมๆ กับการจัดตั้ง SEC ช่วงปลายปี 2568

@ฟุ้ง ทุนจีน-ญี่ปุ่น-เนเธอร์แลนด์ สนใจเพียบ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดสัมมนาครั้งนี้มีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมมากมาย เช่น ผู้ประกอบการสายการเดินเรือ เช่น บจ.โอโอซีแอล โลจิสติคส์ (ประเทศไทย), บจ.เอสไอทีซี คอนเทนเนอร์ ไลนส์ (ประเทศไทย), บจ.เค ไลน์ (ประเทศไทย), บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (รัฐวิสาหกิจด้านการลงทุนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจีน), บจ.เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินอล (ประเทศไทย), Maritime & Transport Business Solutions BV จากประเทศเนเธอร์แลนด์, Hebei Port Group Co Ltd จากประเทศจีน, Royal HaskoningDHV จากประเทศเนเธอร์แลนด์

ขณะที่ผู้ประกอบการด้านอื่นๆ เช่น บจ.สยามพิวรรธน์, บมจ.เคดับบลิวไอ, โตคิว คอร์ป (บริษัทรถไฟเอกชน, ผู้พัฒนาที่ดิน และผู้ให้บริการโรงแรมและร้านค้าในเขตกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น), บมจ.ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น, Bank of China, The Hokuriku Bank เป็นต้น


@เอกชนถามการพัฒนาให้ทำได้เต็มที่หรือไม่

ด้านความเห็นของเอกชนที่มาร่วมรับฟังโครงการ ตัวแทนจาก บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ถ้าเอกชนผู้ลงทุนไม่มีแนวคิดที่จะให้เชื่อมฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของภูมิภาค จะมีการทบทวนใหม่ โดยจะพัฒนาเฉพาะท่าเรือระนอง จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะในขณะที่เอกชนอื่นลงทุนแบบเดิม แล้วจะพิจารณาอย่างไรว่าแบบใดมีประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด เพราะที่แสดงความเห็นนี้ก็ในฐานะที่เป็นผู้ลงทุนจริง จึงอยากฝากการบ้านไว้ให้คิดล่วงหน้า

ขณะที่ตัวแทนจาก บมจ.ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ให้ความเห็นว่า เบื้องต้นยังไม่ขอคอมเมนต์อะไรเกี่ยวกับโครงการนี้มาก จะขอให้ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จก่อน ซึ่งอยากให้ผลการศึกษาชัดเจนว่า กรณีที่ให้เอกชนไปรวมกลุ่มมาในลักษณะกิจการร่วมค้านั้น จะมั่นใจได้ไหมว่าจะให้อำนาจเอกชนเต็มที่ในการพัฒนาแต่ละภาคส่วน และการให้อำนาจนั้นจะต้องไม่ทำให้การทำงานร่วมกันของเอกชนที่รวมกลุ่มกันมาขัดขากันเอง เช่น บริษัท A ถนัดด้านโลจิสติกส์ จะทำได้เต็มศักยภาพไหม จะต้องแชร์งานกับบริษัท B C หรือ D หรือเปล่า หรือจะมีข้อกำหนด กฎหมาย กฎระเบียบใดมาควบคุมอีกที เพราะโครงการใช้เงินลงทุนสูง เอกชนก็ย่อมต้องการพัฒนาให้เต็มศักยภาพเช่นกัน


สำหรับรายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ จะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)

รูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ ซึ่งจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น