xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนเปิด ”สายสีเหลือง” เต็มระบบ ยังซ่อมไม่เสร็จ รอชิ้นส่วนล็อตสุดท้ายจากต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางถกผู้ให้บริการ จี้แก้ปัญหาหลังเกิดเหตุถี่ ซ่อมสายสีเหลืองยังไม่เสร็จ รอชิ้นส่วนล็อตสุดท้ายจากต่างประเทศเลื่อนเปิดเต็มรูปแบบ พร้อมกำชับบำรุงรักษาระบบปรับอากาศสายสีน้ำเงินกรณีน้ำรั่ว สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

วันนี้ (28 พ.ค. 2567) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมฯ ได้มีการหารือประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบขนส่งทางรางที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา ซึ่งพบว่าสถิติเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงเดือนเมษายน-วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 รวม 17 ครั้ง ประกอบด้วย

1. เดือนเมษายน 2567 มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องทั้งหมด 8 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบขับเคลื่อน 2 ครั้ง จุดสับราง 4 ครั้ง และอื่นๆ 2 ครั้ง
 
2. เดือนพฤษภาคม 2567 มีเหตุขัดข้องทั้งหมด 9 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบขับเคลื่อน 3 ครั้ง ระบบเบรก 2 ครั้ง ระบบประตูรถ 1 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง และอื่นๆ 2 ครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพื่อหาสาเหตุของการขัดข้อง และร่วมกันหาแนวทางการป้องกันเพื่อลดจำนวนเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง
 


@ สีเหลืองยังซ่อมไม่เสร็จ รอชิ้นส่วนล็อตสุดท้ายจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการติดตามความคืบหน้ากรณีรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ร่วงหล่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ตามข้อสั่งการของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางติดตามหาสาเหตุและหาแนวทางการป้องกัน โดยกรมการขนส่งทางรางได้ประชุมหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง

จากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุเกิดจากนอตตัวผู้ (bolt) ที่ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) บริเวณรอยต่อที่ใช้สำหรับรองรับการขยายตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (expansion joint) ของคานทางวิ่ง (guideway beam) เกิดความเสียหายเนื่องจากการติดตั้งในระหว่างการก่อสร้างมีความบกพร่อง ส่งผลให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เกิดการเคลื่อนตัวและขบวนรถไฟฟ้าไปกระแทก จึงทำให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หล่นมากระแทกรางนำไฟฟ้า (conductor rail) ทำให้รางนำไฟฟ้าหลุดร่วงระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีสวนหลวง ร.๙ (YL15) ระยะทางประมาณ 6.40 กิโลเมตร และทำให้ finger plate และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้า (insulator) บางส่วนร่วงหล่นลงมายังพื้นด้านล่าง


ทั้งนี้ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้ส่งชิ้นส่วนนอตตัวผู้ (bolt) ที่เสียหายดังกล่าวไปตรวจสอบที่ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานทดสอบวัสดุในประเทศไทย เพื่อหาสาเหตุเชิงลึก รวมทั้งผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และสายสีชมพูได้ดำเนินการตรวจสอบนอตตัวผู้ (bolt) ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) แล้วทุกจุดตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งตัวใดที่มีปัญหาได้ดำเนินการเปลี่ยนและติดตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบการคลายตัวของนอตยึด finger type expansion joint จากทุก 6 เดือนเป็นทุก 2 เดือน และเพิ่มความถี่การตรวจสอบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) ด้านบนเป็นทุก 7-10 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อการเดินรถ

ในปัจจุบันผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าและรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีสวนหลวง ร.๙ (YL15) กับสถานีศรีอุดม (YL16) เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าและรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) กับสถานีสวนหลวง ร.๙ (YL15) ซึ่งไม่สามารถเปิดให้บริการทันในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ได้ เนื่องจากยังคงรอชิ้นส่วนล็อตสุดท้ายจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมาถึงไทยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 และจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนที่กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย วิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) และผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองจะร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยและทดสอบการเดินรถร่วมกันอีกครั้งให้มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ต่อไป


@ กำชับ แก้ปัญหาท่อแอร์ ขบวนรถ MRT สีน้ำเงิน

นายพิเชฐกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าฯ กรณีเหตุขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) เกิดเหตุน้ำรั่วไหลใส่ผู้โดยสารภายในขบวนรถ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.29 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางรางได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พบว่า สาเหตุเกิดจากการอุดตันของท่อระบายน้ำของระบบปรับอากาศ (Drain Hole) โดยกรมการขนส่งทางรางได้กำชับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าปฏิบัติตามแนวทางป้องกันเหตุ

โดยตรวจสอบวิธีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด พร้อมทั้งเพิ่มความถี่และความรัดกุมในการตรวจสภาพและทำความสะอาดระบบปรับอากาศ จากเดิมทุก 3 เดือน เป็นทุกเดือน และพิจารณาปรับปรุงระบบให้สามารถเข้าถึงการซ่อมบำรุงระบบปรับอากาศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการอุดตันของท่อระบายน้ำ


กรมการขนส่งทางรางได้เน้นย้ำผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าตระหนักถึงความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า และดำเนินการซ่อมบำรุงรักษารถขนส่งทางรางพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามวาระการซ่อมบำรุงที่ผู้ออกแบบและผู้ผลิตแนะนำ รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ เพื่อป้องกันและลดจำนวนเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น