xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ปรับแผนดอนเมืองเฟส 3 ยกเลิก APM-เปิด Private Jet รายที่ 2-ฟื้นคลังสินค้าเพิ่มรายได้รวบสัญญาเดียวประมูล มี.ค. 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.ปรับแผน 'ดอนเมืองเฟส 3' มูลค่า 3.6 หมื่นล้าน ยกเลิก APM ใช้ทางเดินเลื่อนแทนจ่อเปิด PPP รายที่ 2 Private Jet รับนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ ปั้นรายได้เพิ่ม 3.5 พันล้าน ฟื้นคลังสินค้าเป้าปีละ 5 แสนตัน รวบสัญญาเดียวเปิดประมูล มี.ค. 68 สร้าง 5 ปี รับ 50 ล้านคน

วันที่ 28 พ.ค. 2567 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ได้จัดประชุมการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสม โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ บริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการภาคพื้น ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ และผู้ให้บริการด้านขนส่งทั้งภายในและภายนอก จำนวนกว่า 200 คนร่วมการประชุม

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า โครงการพัฒนา ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 พ.ย. 2565 อนุมัติวงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี และเป็นหนึ่งโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation Hub) เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงนโยบาย ของกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เพื่อรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (International Terminal) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบิน มีพื้นที่ใช้สอยประมาณกว่า 166,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้สูงสุด 23 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572 หลังจากนั้นจะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบันใช้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ) เพื่อขยายพื้นที่อาคารหลังที่ 1 และปรับมาให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้สูงสุด 27 ล้านคนต่อปี รวมพื้นที่ใช้สอยมากถึง 240,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2574 จะทำให้ ดอนเมือง มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารรวมกว่า 400,000 ตารางเมตร ซึ่งน้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ประมาณ 450,000 ตารางเมตรเล็กน้อย


@ประมูล 1 แพกเกจรวบสัญญาเดียว

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2567 เปิดประมูลได้ในเดือน มี.ค. 2568 โดยรวม 5 กลุ่มงานเป็นสัญญาเดียว ได้แก่ งานด้านทิศเหนือ งานด้านทิศใต้ งานพื้นที่ลานจอดอากาศยาน งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และอาคารเทียบเครื่องบิน งานระบบสาธารณูปโภค เนื่องจากงานมีความซับซ้อนและมีการเชื่อมโยงของแต่ละกลุ่มงาน หากแยกประมูลอาจจะมีปัญหาเรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่สัมพันธ์กันและมีผลต่อการทำงานของแต่ละรายได้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 2568-2574

@“ดอนเมือง”สนามบินที่สะดวกรวดเร็ว รับเดินทางแบบ Point to Point

นายกีรติกล่าวว่า ทอท.วางเป้าหมายของท่าอากาศยานดอนเมืองให้มีบทบาททางยุทธศาสตร์เป็น “ท่าอากาศยานที่รวดเร็วและสะดวกสบาย” หรือ “Fast and Hassle-free Airport” ด้วยจุดเด่นที่อยู่ไม่ไกลสามารถเข้าสู่ใจกลางเมืองได้เร็ว และการเข้าถึงจากจุดเช็กอินสู่เครื่องบินได้เร็ว และเป็นการเดินทางแบบ Point to Point มีผู้โดยสารหลักเป็นกลุ่มเอเชียและอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ขณะที่สายการบินมีทั้งโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และสายการบินเต็มรูปแบบ ที่เข้ามาใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว

ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารประมาณ 30 ล้านคน/ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดการณ์ปี 2572 จะมีผู้โดยสาร 43 ล้านคน และ 2.8 แสนเที่ยวบิน ปี 2574 เพิ่มเป็น 48 ล้านคน และ 3 แสนเที่ยวบิน ดังนั้นเฟส 3 จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนผู้โดยสารในประเทศใช้อาคาร 1 และ 2 ร่วมกัน ซึ่งหลังพัฒนาเสร็จจะมีพื้นที่บริการเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว 

สำหรับอาคาร เช็กอินกรุ๊ป ที่ติดกับอาคารหลังที่ 1 จะปรับเป็นพื้นที่พักคอยและเชิงพาณิชย์หลังย้ายผู้โดยสารระหว่างประเทศมาใช้อาคารหลังที่ 3 และกรุ๊ปทัวร์จะไปใช้ที่ Junction Terminal แทน


@ เปิด PPP “อาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล” รายที่ 2 รับนักท่องเที่ยวไฮเอนด์

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงพื้นที่บริการผู้โดยสารส่วนบุคคล หรือ General Aviation (GA) ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ Private Jet Terminal โดยจะใช้พื้นที่คลังสินค้า 4 และเปิด PPP คัดเลือกผู้ให้บริการรายที่ 2 เข้ามาลงทุนทั้งหมด เนื่องจากเอกชนจะมีศักยภาพในการวิเคราะห์และทำการตลาดได้ดีกว่า ซึ่งได้หารือบอร์ด ทอท.ขอปรับแผนจากเดิมที่รวมเรื่องนี้ในดอนเมืองเฟส 3 โดย ทอท.จะนำเงินลงทุนส่วนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทปรับไปใช้งานก่อสร้างส่วนของการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินเพิ่ม เพื่อลดการใช้ Bus Gate ให้น้อยที่สุด

ปัจจุบัน Private Jet Terminal มีผู้ให้บริการอยู่แล้ว 1 ราย บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด (MJets) มีสัญญากับ ทอท. 10 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2569 หลังจากครบสัญญา ทอท.จะนำพื้นที่ออกประมูล PPP เช่นกัน ระยะเวลาประมาณ 15-20 ปี

โดยคาดการณ์ว่า Private Jet จะดึงผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าชั้นดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ตลาดมีการเติบโต จากปัจจุบันวันละ 20-30 เที่ยวบิน เป็น 60 เที่ยวบิน และสร้างรายได้ให้ ทอท.ได้ถึง 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยในแผนจะมีทั้งที่จอดเครื่องบิน และซ่อมบำรุงเครื่องบินส่วนตัวครบวงจร เพื่อให้ดอนเมืองเป็นศูนย์กลางด้านเที่ยวบิน Private Jet ในอนาคต


นอกจากนี้ยังมีงานปรับปรุงก่อสร้างอาคารจอดรถ ที่ปัจจุบันมีความแออัดอย่างมาก รับเพิ่มได้อีก 4,000 คันหรือ 3 เท่าตัว เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงสร้างและปรับปรุงทางเชื่อมกับสถานีรถไฟ ทั้งสายสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และปรับปรุงถนนภายใน ด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร มี 4 ช่องจราจรระดับดิน และยกระดับ 4 ช่องทาง

ส่วนทางยกระดับจากด้านหน้าสนามบินเชื่อมกับทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ นั้น เบื้องต้นได้หารือกับกรมทางหลวงและบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) แล้วว่าจะมีการดำเนินการร่วมกัน โดย ทอท.รับผิดชอบก่อสร้างในพื้นที่ทอท.ไปจนถึงเขตรั้วและเอกชนรับผิดชอบส่วนที่ต่อเชื่อมกับดอนเมืองโทลล์เวย์โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม


@ ยกเลิก APM ใช้ทางเดินเลื่อนแทน

สำหรับระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทนั้น นายกีรติกล่าวว่า เดิมจะรวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ด้านใต้ของสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อเชื่อมพื้นที่อาคารคลังสินค้า 4 ที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมกับอาคารในประเทศ (อาคาร 2) และอาคารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) แต่ขณะนี้เมื่อปรับคลังสินค้า 4 เป็น Private Jet จึงตัด ระบบ APM ออกเพราะไม่จำเป็นแล้ว และใช้เป็นทางเดินเชื่อมต่อพื้นที่อาคารผู้โดยสาร หลังที่ 1, 2, 3

@ ฟื้นคาร์โก้ ตั้งเป้าสินค้า 5 แสนตันต่อปี

นายกีรติกล่าวอีกว่า ในแผนพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะมีการพัฒนาส่วนของอาคารคลังสินค้า 1 และ 2 ที่มีสภาพทรุดโทรม นับจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จะปรับปรุงเพื่อขยายปริมาณสินค้าจากใต้ท้องเครื่องบินระหว่างประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะมีปริมาณสินค้าได้ถึง 500,000 ตันต่อปี


@ จ่อประมูล "ขยายอาคารตะวันออก" สุวรรณภูมิ วงเงิน 9 พันล้าน ส.ค.นี้

นายกีรติกล่าวว่า ทอท.มีความพร้อมทางการเงินในการลงทุนดอนเมืองเฟส 3 โดยมีกระแสเงินสดและรายได้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนแต่อย่างใดประเมินค่าลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 5-8 พันล้านบาท รวมไปถึงโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 9,000 ล้านบาทที่คาดว่าจะประมูลในเดือน ส.ค. 2567 และโครงการขยายสนามบินเชียงใหม่ระยะที่ 2 และขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2

นอกจากนี้ ทอท.อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลผู้ให้บริการภาคพื้นดิน สนามบินสุวรรณภูมิรายที่ 3 นั้น ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 กำลังพิจารณาร่างทีโออาร์ในเดือน ก.ค. 2567 นี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ ทั้งผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 คาดการณ์ผู้โดยสารของสนามบินทั้ง 6 แห่งจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 120 ล้านคน ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกมีผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนแล้ว แม้ว่าช่วงครึ่งหลังจะเป็น Low Season แต่เนื่องจากมีปัจจัยจากการบินฟื้นตัวมาช่วย คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนปี 2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร จำนวน 140 ล้านคน ซึ่งจะกลับไปเท่ากับเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น