รฟท.เตรียมเสนอบอร์ดวันที่ 23 พ.ค. แก้ไขสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ผ่าทางตัน ออก NTP เจรจา ซี.พี.ตัดเงื่อนไขขอส่งเสริมบีโอไอ หลังหมดเวลาครั้งที่ 3 เมื่อ 22 พ.ค. 67 คาดเร่งชงบอร์ดอีอีซี และ ครม.แก้สัญญาร่วมทุน เริ่มก่อสร้างในปีนี้
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ขณะนี้อีอีซี พยายามเร่งรัดให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท สามารถเดินหน้าก่อสร้างไปตามสัญญาโดยเร็ว ซึ่งกรณี เงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ระบุให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) ผู้รับสัมปทานฯ ต้องขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อนนั้น โดยในวันที่ 22 พ.ค. 2567 เป็นกำหนดสิ้นสุดที่เอกชนได้รับการขยายเวลาจากบีโอไอครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้าย) แล้ว ดังนั้น หากไม่หาทางออกเพื่อแก้ปัญหาจะยิ่งทำให้เสียเวลาออกไปอีก
ที่ผ่านมาอีอีซีได้แนะนำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไปให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ไม่ใช่เรื่องแรกที่ต้องทำตอนนี้ เพราะหากโครงการไม่เดินหน้า ขอสิทธิประโยชน์ได้มาแล้วก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งสองฝ่ายต้องตัดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์บีโอไอออกไปเพื่อให้สามารถออก NTP เริ่มการก่อสร้าง
"เงื่อนไขในการออก NTP มีทั้งเรื่องการชำระสิทธิ์ ค่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ การส่งมอบพื้นที่ และการขอบีโอไอ ซึ่งประเด็นอื่นๆ ไม่มีปัญหา เหลือบีโอไอ ซึ่งหากตกลงกันได้ว่าขอตัดออกก็นำไปสู่การแก้ไขสัญญา โดยตามขั้นตอน กรณีมีการแก้ไขสัญญา รฟท.นำเสนอบอร์ด คาดว่าภายในปลายเดือน พ.ค.นี้ จากนั้นเสนอบอร์ดอีอีซีภายในเดือน มิ.ย. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อแก้ไขสัญญาเรียบร้อยสามารถออก NTP ได้เลย ส่วนสิทธิประโยชน์ เอกชนสามารถขอที่ อีอีซีโดยตรงได้หลังจากนั้น"
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน ในวันที่ 23 พ.ค. 2567 รฟท.มีวาระนำเสนอบอร์ด รฟท.เพื่อทราบ เรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์ของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในประเด็นเงื่อนไขการออก NTP ที่รฟท.ได้หารือกับเอกชน ตัดเงื่อนไขการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอออก และคาดว่าจะออก NTP เริ่มงานได้ภายในปี 2567