xs
xsm
sm
md
lg

"สายสีเหลือง" ดีเดย์ 10 มิ.ย.นี้เดินรถเต็มรูปแบบ เร่งทดสอบระบบหลังเปลี่ยนนอตยึดและติดเซ็นเซอร์จับความร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะ กก.กำกับฯ รถไฟฟ้า MRT เช็กคืบหน้าซ่อม "สายสีเหลือง" ติดแผ่น finger plate เปลี่ยนนอตยึดใหม่ และตรวจนอตอีกกว่า 4 หมื่นตัวเสร็จแล้ว เพิ่มติดตั้งระบบเซ็นเซอร์จับความร้อน เหลือทดสอบระบบจ่ายไฟฟ้า คาดกลับมาเดินรถเต็มรูปแบบ 10 มิ.ย. 67 เอกชนเตรียมเก็บค่าโดยสารราคาเดิม

นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สายสีเหลือง และสายสีชมพู เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2567 คณะกรรมการกำกับฯ ได้มีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการเดินรถและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทาง โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานผลการแก้ไขปัญหาการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เกิดอุบัติเหตุแผ่นเหล็ก (finger plate) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าหลุดร่วง ช่วงระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีศรีอุดม (YL16) ฝั่งมุ่งหน้าสถานีสำโรง (YL23) (south bound) เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ขณะนี้ทางบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยติดตั้งแผ่น finger plate ใหม่ เปลี่ยน Bolt หรือนอตยึดแผ่น finger plate กับคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ที่มีปัญหา และตรวจสอบนอตจุดอื่นๆ จำนวน 40,000 ตัว เสร็จเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์จับความร้อนเพิ่มเติม หากมีปัญหาระบบจะแจ้งเตือนเพื่อหยุดการทำงานป้องกันไม่ให้วัสดุหลุดร่วงลงมาอีก ซึ่งเดิมรฟม.รายงานว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบตามปกติภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากจะต้องมีการทดสอบระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ 10 วัน คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถได้วันที่ 10 มิ.ย. 2567

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเปิดให้บริการ รฟม.และผู้รับสัมปทานจะมีการประชาสัมพันธ์แผนการเดินรถเต็มเส้นทาง รวมถึงการจัดเก็บค่าโดยสารอัตราปกติ จากปัจจุบันที่มีการให้ส่วนลด 20% เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขระบบ ซึ่งจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าอีกครั้ง

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายในเมืองทองธานี นายมนตรี กล่าวว่า เป็นกรณีเกิดอุบัติเหตุน้ำปูนหล่นใส่รถยนต์เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2567 โดยรฟม.ชี้แจงว่าการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายในเมืองทองธานี ผู้รับเหมาได้มีการปิดพื้นที่ตามมาตรการความปลอดภัย เนื่องจากวันดังกล่าวมีการจัดงานภายในเมืองทองธานี มีประชาชนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัด จึงได้มีการประสานขอให้ทางโครงการเปิดพื้นที่เพื่อเร่งระบายจราจร กระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นดังกล่าว จึงได้กำชับ รฟม.ให้เพิ่มมาตรการเข้มงวดด้านความปลอดภัย และให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงคมนาคมกำหนดอย่างเคร่งครัด หากเกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกจะต้องบันทึกลงสมุดพกเพื่อตัดแต้มคะแนน และถูกลงโทษตามแต้มที่ถูกตัดไว้ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจุบันการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ต้องแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยกลางทางที่เกิดปัญหาแผ่นเหล็ก (finger plate) และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยึดรางร่วงหล่นนั้นเดินรถได้ฝั่งเดียว มีการปรับลดความถี่ และ EBM ได้ปรับลดอัตราค่าโดยสาร 20% โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 ผู้โดยสารสายสีเหลืองมีจำนวน 33,078 คน-เที่ยว จากปกติที่มีกว่า 40,000 คน-เที่ยว/วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น