ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 พ.ค. 2567) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงออเงิน เขตสายไหม แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อก่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรของโครงข่ายถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบที่ปัจจุบันมีปัญหาการจราจรหนาแน่นอย่างมาก ช่วยรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการใช้เส้นทางสำหรับคมนาคมขนส่งได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย และคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ข้างต้น เพื่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) และสิ่งจำเป็นอื่นเพื่อประโยชน์ของทางพิเศษหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ
โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) งานโยธา ระยะทาง 16.2 กม. เงินลงทุนโครงการ ประมาณ 24,060.4 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 3,726 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนมีที่ดินจำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 134 หลัง
ส่วนกรอบวงเงินงานโยธาประมาณ 19,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกวดราคา งานโยธา กรอบราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท มีผู้รับเหมาที่ยื่นประมูล 4 ราย
ประกอบด้วย 1. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท
ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
เบื้องต้น บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาผลการประมูลขั้นสุดท้าย
สำหรับเงินลงทุนโครงการจะมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 14,374 ล้านบาท และออกพันธบัตรเพิ่มเติม 5,960 ล้านบาท