“มนพร” ลุยยกระดับพัฒนาขนส่งทางน้ำ จัดอบรมอาสาวารีรุ่นที่ 44 เข้มปลอดภัย ยกระดับ จ.นครพนม จากท่องเที่ยวเมืองรองเป็นเมืองหลัก เผยนักท่องเที่ยวโต 300% ด้านแอร์เอเชียเตรียมเปิดบินข้ามภาค 'นครพนม-ภูเก็ต, นครพนม-เชียงใหม่' ในปีนี้
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเครือข่ายอาสาวารีรุ่นที่ 44 จังหวัดนครพนม วันที่ 19 พ.ค. 2567 ว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งดำเนินการสร้างเครือข่ายอาสาวารีให้กว้างขวางมากขึ้น ด้วยการเพิ่มเป้าหมาย และขยายวัตถุประสงค์นำเครือข่ายออกไปสู่ภาคประชาชน หรือองค์กรต่างๆ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน องค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติงานกับกรมเจ้าท่า ในการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุอันอาจเกิดจากการใช้เรือและท่าเทียบเรือ การสัญจรทางน้ำ การแจ้งเหตุเกี่ยวกับมลภาวะทางน้ำ หรือการกระทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ พร้อมกับรองรับนโยบาย “คมนาคม..สร้างสุขทุกการเดินทาง”/ และ “ราชรถยิ้ม” ของกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดให้ปี พ.ศ. 2567 เป็นปีแห่งความสุขและความปลอดภัยในทุกการเดินทางของประชาชน จึงได้ให้ความสำคัญในการรณรงค์ด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในส่วนของความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้เกิดแนวคิดในรูปแบบเครือข่าย “อาสาวารี” ที่กรมเจ้าท่าจะได้สร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการช่วยสนับสนุนภาครัฐ เสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำให้เกิดความสะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้นตามนโยบาย
ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมมีพื้นที่ด้านเหนือและตะวันออกของจังหวัดติดกับแม่น้ำโขงโดยตลอด และมีศักยภาพในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีสถานที่สัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำหลายแห่ง เช่น การล่องเรือชมแม่น้ำโขง ประเพณีแข่งเรือยาว เทศกาลไหลเรือไฟ ช่วงปี 2566-2567 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 300% ยอดจองห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงมีจากการเพิ่มเที่ยวบิน การเดินรถโดยสาร บขส. และการคมนาคมทางถนน
กระทรวงคมนาคมมีแนวทางการพัฒนาจากเมืองรองเป็นเมืองหลัก จึงมอบให้กรมเจ้าท่าพิจารณาจัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 44 ที่จังหวัดนครพนม เพื่อมุ่งที่จะรณรงค์ป้องกันและสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 180 คนให้ได้รับความรู้ความเข้าใจในการสัญจรและท่องเที่ยวทางน้ำ และตระหนักในความสำคัญของการร่วมด้วยช่วยกันดูแลความปลอดภัยในการเดินทางสัญจร และท่องเที่ยวทางน้ำในจังหวัดนครพนม และสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปยังครอบครัวและชุมชน มีความพร้อมในการเป็นเครือข่ายภาคประชาชนให้ภาครัฐ อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต
สำหรับการคมนาคมทางเรือนั้น จังหวัดนครพนม เนื่องจากมีแม่น้ำโขง ติดชายแดน มีเรือข้ามฟากจากไทย-ลาว มีจำนวนผู้โดยสารวันธรรมดาเฉลี่ย 800 คน/วัน ส่วนเสาร์และอาทิตย์เฉลี่ยประมาณ1,200 คน/วัน นอกจากนี้มีเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 1 ลำ เรือท่องเที่ยวชายฝั่ง มีสถานที่สวยงาม สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปี ทุกฤดู จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการเดินทางทุกมิติ
นางมนพรกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาแม้การท่องเที่ยวทางน้ำจะยังมีปริมาณไม่สูงนัก แต่ผู้ประกอบการได้มีการเพิ่มจำนวนเรือท่องเที่ยวในด้านการเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้มีการเพิ่มเที่ยวบินดอนเมือง-นครพนมเป็น 4 เที่ยวบิน ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 สายการบินไทยแอร์เอเชียได้ร่วมประชุมกับหอการค้าจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเปิดเส้นทางบินระหว่างภาค นครพนม-ภูเก็ต และนครพนม-เชียงใหม่ โดยอยู่ระหว่างศึกษาประเมินเก็บข้อมูลจำนวนผู้โดยสาร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ ซึ่งทางสายการบินเห็นโอกาสในการเดินทางเชื่อมต่อรองรับนักท่องเที่ยวจากดานังประเทศเวียดนามอีกด้วย
รมช.คมนาคมกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 กรมเจ้าท่าจะมีการอบรมสร้างเครือข่าย “อาสาวารี 2 ครั้ง คือ จังหวัดนครพนม และจังหวัดชลบุรี ซึ่งนอกจากภาครัฐ โดยกรมเจ้าท่า และกระทรวงคมนาคมเองจะได้ประโยชน์จากการมีบุคลากรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกรมเจ้าท่า ตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และจิตสำนึกอาสาที่มีความรู้สึกหวงแหนและเป็นตัวแทน “เจ้าท่า” ในการรักษาสาธารณสมบัติของชาติและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุทางน้ำแล้ว ซึ่งประชาชนในพื้นที่ที่เข้าอบรมฯ จะได้ร่วมเรียนรู้ถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับช่องทางสื่อสารที่สำคัญในการติดต่อประสานการช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ หรือการร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เช่น แจ้งสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ขอคำแนะนำในการเดินทางและท่องเที่ยวทางน้ำ และการร่วมกันปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางน้ำในชุมชน ซึ่งจากการอบรมฯ ที่กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 43 รุ่น มีเครือข่ายอาสาวารีทั่วประเทศถึง 6,866 คน ที่จะร่วมกันช่วยดูแลความปลอดภัย ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากอุบัติเหตุทางน้ำลงได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยการเดินทางขนส่งทางน้ำ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ กรมเจ้าท่ารับนโยบายดังกล่าว ป้องกันรณรงค์ และให้ความรู้ความปลอดภัยเพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญในด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยในเรือ ท่าเรือที่ครบถ้วนตามมาตรฐานการ จัดอบรมอาสาเครือข่ายวารีเป็นไปตามนโยบายกระทรวงคมนาคมที่เล็งเห็นความสำคัญถึงความปลอดภัยการเดินทางทางน้ำ พร้อมกับรณรงค์สร้างองค์ความรู้ เข้าใจ ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนเครือข่ายในพื้นที่ให้รับทราบ เข้าใจ ถึง มาตรการด้านความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำ รวมถึงการช่วยเหลือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการป้องกันแก้ไขในสถานการณ์ต่างๆ