"คมนาคม"เตรียมส่งหนังสือถึง“มหาดไทย”ประสานหน่วยงานท้องถิ่น คุมเข้มจุดบั้งไฟ หวั่นกระทบความปลอดภัยการบิน พร้อมเร่งพิจารณาออกกฎหมาย ยันคำนึงถึงความเหมาะสม ควบคู่อนุรักษ์ประเพณี ด้าน กพท. เผยช่วง 64-66 พบ 155 เหตุการณ์ ขอความร่วมมือขออนุญาตก่อน หวังให้นักบินหลีกเลี่ยงเส้นทาง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ในขณะนี้ มีประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีของคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างเดินทางมาร่วมงานประเพณีนี้กันอย่างคับคั่ง ซึ่งในประเพณีดังกล่าว จะมีการประดิษฐ์บั้งไฟจุดพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า และอาจจะกระทบในเส้นทางบินบางพื้น ที่จึงอาจเป็นพื้นที่เดียวกันกับงานประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายทางการบินได้ ประกอบกับล่าสุดมีการเผยแพร่ข่าวนักบินออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลถึงเหตุการณ์ในขณะทำการบิน พบเห็นบั้งไฟพุ่งลอยอยู่บนระดับความสูงกว่า 8000 ฟุต หรือประมาณ 2.4 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเฉียดเครื่องบินนั้น
ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว กระทรวงคมนาคม จึงได้เตรียมจัดทำหนังสือส่งถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อประสานไปยังหน่วยงานด้านการปกครองในท้องที่ และระดับจังหวัดที่มีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อขอให้ควบคุมและมีมาตรการการจุดบั้งไฟ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความความปลอดภัยการเดินอากาศ และด้วยบั้งไฟไม่สามารถควบคุมทิศทางและความสูงได้ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายต่ออากาศยาน ชีวิต ทรัพย์สินของผู้โดยสารและประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การขนส่งทางอากาศ และการท่องเที่ยวของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาออกกฎหมายข้อบังคับในการปล่อยบั้งไฟให้อยู่ในสภาพที่ควบคุมได้และไม่เป็นอันตรายต่อการบิน แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การออกกฎหมายข้อบังคับในการปล่อยบั้งไฟนั้น จะคำนึงถึงความเหมาะสม เพื่อให้ประเพณีประจำถิ่นที่สำคัญของไทยดำเนินต่อไป เนื่องด้วยเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่การปล่อยบั้งไฟนั้น จะต้องไม่เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของการขนส่งทางอากาศด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน จากการรายงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ได้รวบรวมรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยกรณีนักบินพบบั้งไฟ และโคมลอย ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 พบว่ามี 155 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมพื้นที่และเวลาในการปล่อยบั้งไฟ เพื่อเป็นการแจ้งให้นักบินหลีกเลี่ยงเส้นทางและช่วงเวลาดังกล่าว โดยผู้ที่ต้องการปล่อยบั้งไฟจะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ขอแจ้งขอแบบฟอร์มใบอนุญาตขอปล่อยบั้งไฟจากพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประจำตำบล อำเภอ หรือ จังหวัด โดยข้อกำหนดในการขออนุญาตต้องเป็นไปตามประกาศของแต่ละจังหวัด พร้อมกับแจ้งวัน เวลา ตำแหน่งการปล่อย ขนาด และจำนวนของบั้งไฟ
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ขอได้รับการอนุญาตแล้วนั้น ให้นำใบอนุญาตที่ได้รับ ไปแจ้งท่าอากาศยานที่ใกล้เคียง ก่อนทำการปล่อยบั้งไฟ โดยเขตพื้นที่การแจ้งขอ มีดังนี้ 1.จังหวัดเลย แจ้งที่ท่าอากาศยานเลย 2.จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย แจ้งที่ท่าอากาศยานสกลนคร 3.จังหวัดสกลนคร มุกดาหาร แจ้งที่ท่าอากาศยานสกลนคร 4.จังหวัดนครพนม บึงกาฬ แจ้งที่ท่าอากาศยานนครพนม 5.จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม แจ้งที่ท่าอากาศยานขอนแก่น 6.จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ แจ้งที่ ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด 7.จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ แจ้งที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี 8.จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ แจ้งที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา และ 9.จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ แจ้งที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์