'คมนาคม' เตรียมตั้งคณะ กก.ศึกษาย้ายท่าเรือกรุงเทพ "สุริยะ" นั่งประธาน คาดทบทวนแผนแม่บทเดิม 6 เดือนชัดเจน “มนพร” เผยนโยบายนายกฯ รื้อผังพื้นที่ใหม่ใช้ประโยชน์สร้างมูลค่า ไม่ปล่อยทิ้ง คาดรื้อย้ายชุมชนกว่า 1.3 หมื่นครัวเรือน เผยรอบ 6 เดือนปี 67 กำไรสุทธิ 4.23 พันล้านบาท
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากคลองเตยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนแต่งตั้งคณะกรรมการฯ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน นอกจากนี้จะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมไปถึงกฤษฎีกา เป็นต้น เพื่อดำเนินการศึกษาตามข้อสั่งการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคาดว่า คณะทำงานฯ จะมีการประชุมครั้งแรกภายในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาทบทวนประมาณ 6 เดือน
ที่ผ่านมา ในส่วนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีคณะทำงานฯ ประชุมแบบนอกรอบไปแล้ว 2 ครั้ง หลักการคือจะนำผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพเดิมมาศึกษาทบทวนแผนเดิมในทุกมิติ ทั้งท่าเรือขนส่งสินค้า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การดูแลเรื่องชุมชนและที่อยู่อาศัยแบบใหม่ ซึ่งแผนเดิมมีการศึกษาเป็น Smart Community จะนำมาพิจารณาทั้งหมดว่ามีส่วนใดต้องปรับปรุงหรือต้องพัฒนาแต่ละเฟสอย่างไร
นางมนพรกล่าวว่า นายกฯ มีนโยบายเรื่องการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยให้ทำผังเมืองการใช้พื้นที่ใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็น New Port City นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและโครงการทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพราะจะเป็นส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะทางในการเดินทางเชื่อมกับท่าเรือ โดยหลักการจะเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับการท่าเรือฯ
ส่วนจะย้ายท่าเรือไปทั้งหมดหรือไม่รมช.คมนาคมกล่าวว่า ต้องรอดูการศึกษาออกมาก่อน หลักการไม่น่าจะปิดบริการท่าเรือ แต่จะเป็นการจัดการพื้นที่ มีท่าเรือท่องเที่ยว บริการผู้โดยสาร ขณะท่าเรือขนส่งสินค้าจะคงมีอยู่ แต่เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จะต้องเป็นไฟฟ้าเพื่อลดปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ หรือหากจะย้ายท่าเรือบางส่วนออกไปก็จะแบ่งเป็นเฟส และมีระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน
เมื่อทบทวนแผนแล้วจะมีความชัดเจนของผังท่าเรือกรุงเทพ ว่าจะทำอะไรตรงไหนอย่างไร ท่าเรือขนส่ง ซึ่งนโยบายบอกว่าจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน รวมถึงประชาชนที่จะมีการโยกย้ายประมาณ 13,000 ครัวเรือน ดังนั้นจึงมีกระทรวง พม.อยู่ในคณะทำงานชุดนี้ ส่วนทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีความเห็นทั้งการดูแลตลาดคลองเตยและอยากได้สวนสาธารณะ รวมไปถึงอยากให้ย้ายคลังน้ำมันบางจากออกจากพื้นที่ เป็นต้น
“ผลการศึกษาที่มีเดิมนำมาทบทวนไม่สูญเปล่า นำมาปรับปรุงให้ดี เป้าหมายรัฐบาล ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความมั่งคั่ง สร้างเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ท่าเรือคลองเตย และจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน” นางมนพรกล่าว
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีประมาณ 2,353 ไร่ รัฐบาลต้องการให้การใช้พื้นที่ในเมืองมีความคุ้มค่ามากขึ้น กทท.พร้อมทำงานร่วมมือกับคณะกรรมการฯ ในการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายนายกฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งท่าเรือกรุงเทพในปัจจุบันมีพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ก่อนหน้านี้มีการศึกษาพัฒนาเป็นท่าเรือสีเขียว (Green Port) ภายใต้แนวคิดโครงการ SMART PORT ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร
สำหรับการย้ายตามนโยบายนายกฯ นั้น จะเป็นอย่างไรคณะทำงานที่มีรมว.คมนาคมเป็นประธานนั้นจะศึกษาก่อนว่าจะมีการย้ายแบบไหน อาจจะขยับภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพแต่อาจจะปรับลดขนาด และปรับเพิ่มการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประเด็น เน้นผังเมือง ให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากขึ้นและเพิ่มมูลค่าของพื้นที่
@มั่นใจถมทะเล "แหลมฉบังเฟส 3" เสร็จส่งมอบพื้นที่สัมปทานให้ GPC ปลายปี 68
นายเกรียงไกรกล่าวถึงความคืบหน้างานโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่า ขณะนี้งานส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่นวงเงิน 21,320 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง พื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) ผลการดำเนินงานสะสม ณ เดือน เม.ย. 2567 คิดเป็น 27.25% ซึ่งจะสามารถส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะเริ่มกระบวนการเรื่องปรับคุณภาพ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2568
ส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานงานสาธารณูปโภค งานที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค วงเงินกว่า 7,300 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการกระบวนการให้ครบถ้วนตามขั้นตอน
ส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงินประมาณ 799.50 ล้านบาท และ ส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงินประมาณ 2,257.84 ล้านบาท จะเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับงานส่วนที่ 1 และ 2 ต่อไป
@ เผย 6 เดือนปี 67 กำไรสุทธิ 4,238 ล้านบาท สินค้ารวม 5.28 ล้านทีอียู
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนา กทท. ครบรอบ 73 ปี โดย กทท.ได้มอบเงินสนับสนุนจัดหารถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวชให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมี จำนวน 36,720,400 บาท เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือสตรีกลุ่มเสี่ยงผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารให้สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งทางนรีเวชได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับผลประกอบการในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 66-มี.ค. 67) มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวม 7,230 เที่ยว เพิ่มขึ้น 4.36% สินค้าผ่านท่า 58.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.85% และตู้สินค้าผ่านท่า 5.28 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 9.77% มีรายได้ 8,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.97% กำไรสุทธิ 4,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.34% เทียบกับปีก่อนหน้า