“สุริยะ” รับข้อสั่งการนายกฯ เร่งพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ยกระดับมาตรฐานเป็นท่าอากาศยานนานาชาติด้านเครื่องบินส่วนบุคคล พร้อมแนะเปลี่ยนชื่อเป็น “เพชรหัวหิน” ขณะที่เร่งขยายไหล่ทางอุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเสร็จ ปลายปี 68 รับไฟลต์อินเตอร์ช่วงไฮซีซัน เต็มศักยภาพที่ 1 ล้านคน/ปี
วันที่ 13 พ.ค. 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนามาตรฐานท่าอากาศยานหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรองรับ International flights ณ ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายสุริยะกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายในการพัฒนามาตรฐานท่าอากาศยานหัวหิน และเพิ่มศักยภาพให้สามารถรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตอบสนองการเดินทางทางอากาศของประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียงได้มากขึ้น ปัจจุบันการพัฒนาท่าอากาศยานหัวหินอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาปรับปรุงให้สามารถรองรับได้ทั้งเครื่องบินโดยสาร และอากาศยานส่วนบุคคล
ท่าอากาศยานหัวหินมีที่ตั้งไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ มีศักยภาพในการรองรับอากาศยานส่วนบุคคล รวมทั้งมีศูนย์ฝึกการบินพลเรือน หรือโรงเรียนการบิน ในแต่ละปีที่เที่ยวบินอากาศยานส่วนบุคคลกว่า 30,000 เที่ยวบินต่อปี ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติด้านอากาศยานส่วนบุคคล อีกทั้งตัวพื้นที่มีความพร้อมในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว private Jet ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
ปัจจุบันท่าอากาศยานหัวหินมีทางวิ่งความยาว 2,100 เมตร กว้าง 35 เมตร ลานจอดอากาศยานสามารถรองรับอากาศยานแบบ Airbus A320 และ ATR72 จอด 2 ลํา ได้ในเวลาเดียวกัน อาคารผู้โดยสารขนาด 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้เฉลี่ย 300 คน/ชั่วโมง โดยหากใช้พื้นที่ได้เต็มศักยภาพจะรองรับผู้โดยสารได้สูงถึง 8 แสน ถึง 1 ล้านคนต่อปี
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานหัวหิน ทั้งการขยายทางวิ่ง การขยายไหล่ทางอุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2568 เพื่อให้ทันรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) พร้อมทั้งให้พิจารณาเรื่องการเปลี่ยนชื่อของท่าอากาศยานหัวหิน เป็น “เพชรหัวหิน” อีกด้วย