xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้ารถไฟสีแดง “คมนาคม” ปรับแผนใหม่แก้ปมเวนคืน ชง คจร.หั่นแนวเหลือ 'วงเวียนใหญ่-มหาชัย' ไม่เข้าหัวลำโพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินหน้ารถไฟสายสีแดงเข้ม "คมนาคม" เตรียมชง คจร.เคาะตัดช่วง "หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่" ที่มีปัญหาเวนคืนชุมชนออก ปักแนวสร้างจาก “วงเวียนใหญ่ -มหาชัย” เผยมีสีม่วงใต้และสีเขียวเชื่อมโยงเดินทางได้ รฟท.ตั้งงบ 140 ล้านบาทเตรียมทบทวนการศึกษาใหม่

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ว่า เส้นทางดังกล่าวอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map) ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) จำนวน 12 เส้นทาง แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่มีชุมชนหนาแน่น และจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์ที่ดินปรับเปลี่ยน ส่งผลให้โครงการมีมูลค่าสูงเนื่องจากต้องการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงสะพานสำหรับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ผ่านการพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ดังนั้น เพื่อให้โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงสามารถดำเนินการได้ตามแผนแม่บท และเป็นโครงข่ายหลักลงด้านใต้ของ กทม.และปริมณฑลตามแผนให้สมบูรณ์จึงจะมีการปรับเปลี่ยนรถไฟสายสีแดงจากเดิม เส้นทางจากหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย เป็นวงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยตัดช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ที่ติดปัญหาออก และเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาต่อไป


เบื้องต้นเส้นทางสายสีแดง ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย จะแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ส่วนกรณีเส้นทางสายสีแดงจากมหาชัย สิ้นสุดที่วงเวียนใหญ่นั้น ได้เตรียมแผนการเดินทางเชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่นให้มีความสะดวกมากที่สุด ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สามารถเชื่อมต่อที่สถานีวงเวียนใหญ่ และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสีลม) ที่สถานีวงเวียนใหญ่ รวมไปถึงสามารถใช้สายสีม่วงใต้ต่อไปยังรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้ที่สถานีท่าพระได้อีกด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามแผนแม่บทกำหนด เป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter Train, CT) ที่มีประสิทธิภาพในการขนส่งผู้โดยสาร เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครกับพื้นที่ชานเมืองและหัวเมืองหลักรอบนอก ออกแบบให้ระบบสามารถเดินรถร่วมกับระบบรถไฟทางไกล (Long Distance Train, LD) และรถไฟขนส่งสินค้า (Freight Train, FT) ที่ให้บริการอยู่เดิมของการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองด้านทิศเหนือ (พื้นที่ดอนเมือง รังสิต และปทุมธานี) และพื้นที่ชานเมืองด้านทิศใต้ (พื้นที่บางบอน และมหาชัย) เข้าสู่ใจกลางเมือง


จากผลการศึกษาเมื่อปี 2549 โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ระยะทางรวม 36.56 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ มูลค่าประมาณ 53,064 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 3.40 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 4,934 ล้านบาท 2. ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทาง 33.16 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 48,129 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาและออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (มหาชัย-ปากท่อ) เมื่อปี พ.ศ. 2550 แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงมหาชัย-บ้านแหลม ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร 2. ช่วงบ้านแหลม-แม่กลอง ระยะทาง 33.73 กิโลเมตร และ 3. ช่วงแม่กลอง-ปากท่อ ระยะทาง 30.50 กิโลเมตรโดยมีมูลค่าโครงการทั้ง 3 ช่วง รวมประมาณ 38,182 ล้านบาท

แต่เนื่องจากการศึกษาเดิมของทั้ง 2 โครงการไม่สอดคล้องกัน คือสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ใช้ทาง Standard Gauge (ความกว้าง 1.435 เมตร) ส่วนรถไฟช่วงมหาชัย-ปากท่อ ใช้ทาง Meter Gauge (ความกว้าง 1 เมตร) ทำให้ไม่สามารถให้บริการเดินรถแบบ Through Service ได้ อีกทั้งปัจจุบัน รถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต,บางซื่อ-ตลิ่งชัน และส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทาง ใช้ทางขนาด Meter Gauge จึงสมควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน


@รฟท.ตั้งงบ 140 ล้านบาทเตรียมทบทวนการศึกษาใหม่

รฟท.ได้เสนองบประมาณปี พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนเงิน 140 ล้านบาท เพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำเอกสารประกวดราคา

ดังนี้ 1. ศึกษาความเหมาะสมให้ครอบคลุม แนวเส้นทาง ความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมของโครงการช่วงหัวลำโพง-มหาชัย วงเงินงบประมาณ 20 ล้านบาท 2. ศึกษาออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงาน EIA ของโครงการช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย วงเงินงบประมาณ 120 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น