ส.อ.ท.มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังทยอยฟื้นตัวหลัง "ปรับ ครม." ส่งสัญญาณเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้มาตรการการคลังเป็นหลัก แนะเร่งเบิกจ่ายงบเร่งด่วน พร้อมเร่งขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเพิ่มเติม เร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อการส่งออก ช่วยเหลือ SMEs ด่วน เหตุโดนสินค้านำเข้าดัมป์ราคาหนักและให้หามาตรการให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะทยอยฟื้นตัวสูงโดยภาครัฐควรเร่งผลักดันการใช้งบประมาณปี 67 ที่ล่าช้ามา 7-8 เดือน ขณะที่งบฯ ปี 68 ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็คาดว่าจะเร่งเสนอสภาฯ และสามารถใช้ได้ตามกำหนดการปกติที่จะเริ่มเดือนตุลาคม 67 พร้อมกับขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนให้มากขึ้น
"การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ที่นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่สำคัญในทีมของกระทรวงการคลังยังมีการเสริม นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เรียกได้ว่าแบบ “ฟูลทีม” ซึ่งส่งสัญญาณว่าจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการการคลังเป็นตัวหลัก สิ่งที่จะเห็นจากนี้อยากให้รีบเร่งทำการเบิกจ่ายภาครัฐ เพราะช่วงที่เงินไม่มี ล่าช้า ทำให้กระทบต่อสภาพคล่อง การจ้างงาน การจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐที่ส่งผลกระทบไปหลายอุตสาหกรรม" นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับเครื่องยนต์หลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 67 ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าได้ตามเป้าหมาย 35-36 ล้านคน และหากมีการโปรโมตการท่องเที่ยวเพิ่มเช่นเทศกาลสงกรานต์ โดยมีการจัดงานเทศกาลต่างๆ ที่จะส่งเสริมการลงทุนแล้วดึง Soft Power เข้ามาสร้างอัตลักษณ์เพิ่มก็จะช่วยให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจกลับไปเช่นเดียวกับปี 62 ก็เป็นไปได้สูง
การส่งออก มี.ค. 67 ของไทยมีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ติดลบครั้งแรกรอบ 8 เดือน ขณะที่ภาพรวม 3 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% ซึ่งมาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% เนื่องจากเจอภาวะภัยแล้ง และสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอ ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกปี 67 ยังโต 2-3% แต่ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาครัฐควรมองหาตลาดใหม่ๆ ส่งเสริมการใช้สินค้าไทย ฯลฯ
นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) เร่งด่วนเนื่องจากยังคงเผชิญกับสินค้าไร้มาตรฐานเข้ามาดัมป์ราคา โดยมีทั้งเข้ามาแบบถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมาย โดยสำแดงเท็จขณะนี้ 46 กลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท.ได้รับผลกระทบแล้ว 20 กว่ากลุ่มหากไม่เร่งแก้ไขอาจเป็น 30 กว่ากลุ่มได้ ขณะเดียวกัน SMEs ยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องขอเงินกู้ได้ยาก ควรช่วยเหลือมีมาตรการการคลังมาเพิ่มเติม เช่น บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ไว้วางใจ เพราะขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมาก ทั้ง 2 เรื่องนี้หากไม่เร่งแก้ปัญหาอาจทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ผลเท่าที่ควร