xs
xsm
sm
md
lg

บี.กริม เพาเวอร์ ผนึกปูนซีเมนต์นครหลวง ลงทุน 1.9 พันล้านโครงการพลังงานแสงอาทิตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บี.กริม เพาเวอร์ ผนึกปูนซีเมนต์นครหลวงจัดตั้ง “ อินทรี บี.กริม โซล่าร์” ทุ่มทุน 1.9 พันล้านบาท พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินในพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์นครหลวง จังหวัดสระบุรี แบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3/2568 กำลังการผลิต 83.79 เมกะวัตต์

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) จับมือ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) จัดตั้ง บริษัท อินทรี บี.กริม โซล่าร์ จำกัด (IBS) ทุ่มทุน 1.9 พันล้านบาท พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินภายในพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์นครหลวง จังหวัดสระบุรี โดย บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้นร้อยละ 25 และปูนซีเมนต์นครหลวงถือหุ้นร้อยละ 75 โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ Green Leap สนับสนุนการขยายโครงการพลังงานหมุนเวียน รวมถึงจัดหาพลังงานที่สะอาด ยั่งยืน มีเสถียรภาพในระดับสูง และราคาที่เข้าถึงได้ให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญของยุทธศาสตร์ Green Leap คือการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจและจับมือกันก้าวสู่ความยั่งยืน

ความร่วมมือกับปูนซีเมนต์นครหลวง จัดตั้ง บริษัท อินทรี บี.กริม โซล่าร์ จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดินในครั้งนี้ จึงสอดคล้องกับกลยุทธ์ดังกล่าว อีกทั้งยังนับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและประเทศด้วยพลังงานสะอาด

"บริษัทมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้สูงกว่า 50% ในปี 2573 และมุ่งสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2593 ฉะนั้นการประสานความร่วมมือกับองค์กรใหญ่อย่างปูนซีเมนต์นครหลวงพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เราเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เร็วขึ้น" นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

นายมนตรี นิธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศไทย ภายใต้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานสะอาดครั้งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี พ.ศ. 2537 หรือ INSEE Sustainability Ambition 2030 ที่ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากแหล่งพลังงานไฟฟ้าทางเลือกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ของกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท อินทรี บี.กริม โซล่าร์ จำกัด แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 มีขนาดกำลังการผลิตรวมประมาณ 83.79 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 112 กิกกะวัตต์-ชั่วโมง และคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 54,000 ตันต่อปี ส่วนแผนงานในเฟสที่ 2 จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 22 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 1,920 ล้านบาท โดย บี.กริม เพาเวอร์ จะลงทุนประมาณ 480 ล้านบาทตามสัดส่วนการถือหุ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น