เปิดมุมมองภาคเอกชนต่อนโยบายรัฐบาลเดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 บาท/วันดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ "ส.อ.ท." หนุนปรับเพิ่มได้แต่จำเป็นต้องศึกษาแต่ละรายสาขาทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว/บริการ และภาคการเกษตร เพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริงและลดผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ SMEs 46 กลุ่มอุตฯ ส.อ.ท.พบ 50% เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่บางส่วนยังคงเปราะบาง และต้องมองแรงงานต่างด้าวด้วย ขณะที่สภาองค์การนายจ้างชี้ตามกฎหมายเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอเวลานัดหารือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพ.ค.นี้เกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน 77 จังหวัดที่จะมีผล 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งทาง ส.อ.ท.เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นค่าแรงเพราะยอมรับว่าขณะนี้รายได้ของคนไทยไม่เพียงพอรายจ่ายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง รวมถึงหนี้นอกระบบ แต่ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องศึกษาให้รอบด้านเป็นรายสาขาทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคท่องเที่ยว/บริการ และภาคการเกษตร เพื่อให้การขึ้นค่าแรงมีประสิทธิภาพสูงสุดสะท้อนข้อเท็จจริงและไม่กระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs)
สำหรับ 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท.นั้น พบว่า 50% มีค่าแรงที่เลยจุด 400 บาทต่อวันไปแล้วเนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรในกระบวนการผลิตซึ่งต้องการทักษะฝีมือแรงงาน ส่วนอีก 50% พบว่าเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ยังคงเน้นการใช้แรงงงานสูงรวมถึง SMEs โดยในส่วนนี้บางส่วนก็พยายามจะปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังขาดเงินทุนในการเข้าถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยี ดังนั้นหากมีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดกลุ่มนี้ราว 25% อาจไปไม่รอดได้เช่นกันเพราะมีต้นทุนการผลิตที่ยังสูง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการนั้นกรณีโรงแรม 3 ดาวหากขึ้นไประดับ 400 บาทต่อวันต้องศึกษาว่าจะรับไหวหรือไม่เพราะหากรับไม่ได้ก็อาจจะปิดกิจการและมีการขายโรงแรมอีก เช่นเดียวกับภาคบริการ เช่นร้านอาหารต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมีการใช้แรงงานต่างด้าว ด้านภาคเกษตรที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มประมง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว เหล่านี้หากขึ้น 400 บาทต่อวันประโยชน์จะตกแก่แรงงานต่างด้าวแล้วจะมีผลต่อการใช้จ่ายในประเทศมากน้อยเพียงใด ฯลฯ
“การขึ้นค่าแรงจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการสร้างงาน แล้วค่อยๆ ขยับค่าแรงขึ้น ดังนั้นจึงต้องศึกษาแต่ละรายสาขาอุตสาหกรรม ภาคบริการ เกษตรที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะไหวไหมหากขึ้น 400 บาทต่อวัน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงไม่แน่นอน” นายเกรียงไกรกล่าว
สภาองค์การนายจ้างชี้เป็นอำนาจของไตรภาคี
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า วันแรงงานที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรีซึ่งกํากับกระทรวงแรงงานกล่าวเชิงนโยบายต้องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ 1 ต.ค. 67 คําถามคือรัฐบาลสามารถประกาศค่าจ้างขั้นต่ำล่วงหน้าได้หรือไม่เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกําหนดให้การปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี โดยต้องพิจารณาตามสูตรการคํานวณเชิงเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่กำหนดไว้
SMEs กระอัก-ราคาสินค้าจะปรับขึ้น
ปี 2566 มีสถานประกอบการประมาณ 8.504 แสนกิจการในจำนวนดังกล่าวเป็นโรงงานอุตสาหกรรมจํานวน 72,699 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและ SMEs ที่มีสัดส่วนถึง 90% แสดงให้เห็นถึงผลกระทบเพราะส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้นขาดนวัตกรรมและแบรนด์ เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างการผลิตมีความอ่อนไหวต่อต้นทุน การปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศซึ่งจะผลักดันดีเดย์วันที่ 1 ต.ค. 67 พบว่าค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นอยู่ที่ 15% เกือบครึ่งหนึ่งจะกระจุกอยู่ในช่วงอัตราค่าจ้างวันละ 340-350 บาท ซึ่งจะทําให้อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,650 บาท หากมีแรงงาน 200 คน ค่าจ้างจะปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 4 ล้านบาทต่อปี สําหรับรายใหญ่คงเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ SMEs เป็นเรื่องที่ใหญ่มีความสําคัญต่อความอยู่รอด
“การปรับค่าจ้างช่วงปลายปีสูงในระดับที่กล่าวแม้เศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยแต่ต้นทุนที่สูงขึ้นมากในที่สุดจะทําให้มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต้นทุนของไทยจะลดลงกระทบต่อภาคส่งออก ซึ่งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกิน 1 ใน 2 เป็นอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในยุค 3.0 นอกจากนี้ระยะยาวอาจกระทบต่อการลงทุน” นายธนิตกล่าว