xs
xsm
sm
md
lg

“กรีนแอนด์ออแกนิค” รุกเต็มสูบ ชี้4ปัจจัยอาหารเฉพาะโรคบุคคลโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 – “กรีน แอนด์ ออแกนิค” เดินหน้ารุกเต็มสูบ อาหารเฉพาะโรคพร้อมทานส่วนบุคคล รองรับตลาดที่คาดว่าจะพุ่งเป็น 5,000 ล้านบาทในปีหน้า ชี้ 4 ปัจจัยหลักทำให้ตลาดโต พร้อมทั้งการขยายตลาดช่องทางจำหน่าย และ ตลาดส่งออกนำร่องตะวันออกกลาง


นางสาวชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีน แอนด์ ออแกนิค จำกัด ผู้ผลิตอาหารเฉพาะโรคพร้อมทาน สำหรับผู้ป่วยโรคไต โรคมะเร็ง และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมบริการให้คำปรึกษา ออกแบบอาหารเฉพาะรายบุคคลโดยนักโภชนาการ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารเฉพาะโรคพร้อมทาน(Ready To Eat / RET) มากว่า 3 ปี ถือได้ว่าตลาดเริ่มให้การตอบรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ยูนิต จึงทำให้ในปี2567 นี้จะดำเนินธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้นและขยายตลาดมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดรวมอาหารเฉพาะโรคที่คาดว่าปีนี้จะมีมูค่ารวมมากกว่า 3,000 ล้านบาท และในปีหน้าคาดว่าตลาดรวมจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท หรือเติบโต30% โดยบริษัทคาดว่าจะมียอดขายรวมไม่ต่ำกว่า40 ล้านบาทหรือเติบโต 100% และมีดาต้่าเบสประมาณ หมื่นกว่าราย แบ่งเป็น กรุงเทพและปริมณฑล 30% และต่างจังหวัด 70%


ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดรวมของอาหารเฉพาะโรคส่วนบุคคลเติบโตนั้นมาจาก 1. จุดอ่อนของตลาดที่มีซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์ 2.โรคในกลุ่ม NCD ไม่ลดลงมีแต่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3. จำนวนผู้สูงวัยมีเพิ่มมากขึ้นและไทยก็เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างชัดเจน 4. ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิจัยการผลิต
ปัจจุบันประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด โดยมีผู้ป่วยไตเรื้อรังในประเทศไทยจำนวนกว่า 11 ล้านคน และมีแนวโน้มฟอกไตเพิ่มขึ้นราว 50,000 คนต่อปี โดยมีผู้ป่วยไตระยะวิกฤตที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไตถึง 82,463 คน ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณในการฟอกไตกว่า 12,271 ล้านบาทต่อปี

โดยตลาดPersonalized Food ในกลุ่มผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในประเทศไทย คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5,869 ล้านบาท ภายในปี 2568 จึงเล็งเห็นช่องว่างทางการตลาดและความต้องการที่สูงขึ้น จึงคิดค้นและพัฒนาสูตรอาหารเพื่อช่วยฟื้นฟูและชะลอความเสื่อมของไต ออกแบบอาหารโดยนักโภชนาการเฉพาะรายบุคคลตามผลเลือดและระยะของโรค ซึ่งนอกจากผู้ป่วยโรคไตแล้ว ยังให้บริการออกแบบอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกด้วย


“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของ กรีน แอนด์ ออแกนิค ที่ตระหนักถึงปัญหาในระยะยาว จึงศึกษาหาแนวทางในการป้องกันลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ และลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างยั่งยืน ด้วย ‘อาหาร’ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคน ประกอบกับอัตราการเกิดโรคของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ อาหารเฉพาะโรคเฉพาะรายบุคคล มีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางสาวชลกานต์ กล่าว

นอกจากนี้ กรีน แอนด์ ออแกนิค ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ มากมายทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการร่วมทำงานวิจัย และผลักดันเรื่องการลดอัตราผู้ป่วยโรคไต โรคมะเร็ง และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย อาทิ ความร่วมมือกับโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้แก่ รพ. กรุงเทพ, พญาไท, เปาโล, สินแพทย์, เกษมราษฎร์, บางปะกอก, วิชัยเวช และสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ บริการตู้กดอาหารเพื่อสุขภาพ และให้บริการอาหารลดโซเดียม พร้อมส่งถึงบ้าน, ความร่วมมือกับกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา นำเสนอร่างนโยบาย ป้องกันก่อนรักษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาของประเทศ โดยนำเสนอนโยบาย ให้หมอสั่งอาหารสุขภาพ แล้วเบิกได้เหมือนยา ให้ประชาชนกินอาหารเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร, ความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ วิจัยผลของการบริโภคลดเค็ม ต่อการทำงานของไต กับคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และการจัดโภชนคลีนิคสัญจร บริการนักโภชนาการประจำสำนักแพทย์ ให้กลุ่มข้าราชการรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

โดยแผนธุรกิจปี 2567 นี้ จะมุ่งเน้นเรื่องความร่วมมือกับภาครัฐในการผลักดันนโยบายให้หมอจ่ายอาหารเป็นยา โดยเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานเพื่อเป็นการปรับพฤติกรรมการบริโภคและปรับให้เคยชินกับรสชาติอาหารโซเดียมต่ำ ลดหวานมันเค็ม อีกทั้งยังมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ และขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ และเครื่องปรุงรส ไปในประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567


กรีน แอนด์ ออแกนิค มีผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคนทั่วไปที่ควบคุมปริมาณโซเดียม ลดหวานมันเค็ม เพื่อป้องกันการเกิดโรคไต แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. อาหารเพื่อสุขภาพพร้อมทานและขนมเพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น, มัสมั่นไก่, กะเพราไก่, พะแนงไก่, แกงเขียวหวานไก่, คุ้กกี้ไข่ขาว, ขาไก่รสพิซซ่า และขนมเปี๊ยะไส้มะตูม 2. เครื่องปรุงรส และน้ำจิ้มลดโซเดียม 60 – 90% อาทิ น้ำปลา, ซีอิ๊วขาว, ซอสหอย, น้ำจิ้มสุกี้, น้ำจิ้มซีฟู๊ด, ซอสพริกไทดำ และซอสเทอริยากิ 3. อาหารแห้งโซเดียมต่ำ อาทิ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป, น้ำพริกสมุนไพร, น้ำพริกปลากระพงหยอง, น้ำพริกปลาผัดฉ่า และน้ำพริกนรกปลาย่าง
ในส่วนของตลาดส่งออกนั้น ช่วงแรกจะเน้นการส่งออกเครื่องปรุงรสก่อน ซึ่งมีการติดต่อเจรจากันบ้างแล้ว ในตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งคนตะวันออกกลางค่อนข้างที่จะชื่นชอบเรื่องการดูแลสุขภาพของไทยอย่างมาก โดยวิธีการไปจะผ่านตัวแทนจำหน่าย

ส่วนช่องทางการทำตลาดและจำหน่าย จะเน้นไปที่การสั่งอาหารไปทานที่บ้าน และการเข้าร่วมโปรแกรมที่บริษัทวางไว้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาส่วนใหญ่กลุ่มผู้ใช้บริการจะเป็นการเข้าโปรแกรมทานอาหาร มากกว่า การสั่งทานแต่ละครั้ง โดยบริษัทมีครัวกลางในการผลิตอาหารอยู่ที่อุดมสุข โดยอาหารกล่องพร้อมทานที่ขายปลีก ราคากล่องละ 79 บาทขึ้นไปแล้วแต่เมนู ไม่ต้องแช่เย็นเพราะมีกรรมวิธีการผลิตเฉพาะ คาดว่าปีนี้จะจำหน่ายได้ 50,000 กล่อง

สำหรับอาหารเฉพาะโรคเฉพาะรายบุคคลแบบพร้อมทาน จะเน้นอาหารไทยเป็นหลัก ใช้วัตถุดิบสดใหม่ และตามฤดูกาลรวมถึงสมุนไพรไทยช่วยชูรสชาติมีให้เลือกมากกว่า 200 เมนู สำหรับเมนูที่ได้รับความนิยมคือ ปลานึ่งซีอิ๋ว, แกงเลียง, ผัดบวบไข่ขาว, ผัดฉ่า และไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ปัจจุบันมีผู้ป่วยใช้บริการออกแบบอาหารเฉพาะรายบุคคลพร้อมส่งถึงบ้านแล้วกว่า 60,000 มื้อต่อปี ซึ่งผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยกลุ่มลูกค้าแบ่งเป็นผู้ป่วยโรคไต 80% และผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคความดัน 20% ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าต่างจังหวัด 70% และ 30% เป็นลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


























กำลังโหลดความคิดเห็น