xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.ทำใจ! รับค่าไฟพุ่ง-ดีเซลแพงทยอยใช้หนี้เกือบ 2 แสนล้าน ลุ้นราคาพลังงานโลกชี้ชะตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันอุณหภูมิที่ร้อนปรอทแตกเฉลี่ย 39-40 องศาเซลเซียส บางพื้นที่สูงถึง 44 องศาจนทำให้คนไทยต้องหันมาคลายความร้อนกันทุกรูปแบบ ทั้งการเปิดเครื่องปรับอากาศ (แอร์) พัดลม ฯลฯ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ช่วงค่ำเวลา 21.00 น. คนไทยใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดสร้างสถิติใหม่ของประเทศไทยถึง 36,699 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) เป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 3 ในปี 2567 นี้ ซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อเนื่องว่าจะเกิดการทุบสถิติใหม่หรือไม่ต่อไป

แน่นอนว่าการใช้ไฟที่สูงขึ้นย่อมหมายถึง “บิลค่าไฟในรอบ พ.ค. 67” ที่ประชาชนจะต้องควักจ่ายเฉลี่ยกันเพิ่มขึ้นอย่างถ้วนหน้า ซึ่งก็ต้องมารอลุ้นว่าเดือน พ.ค.จะมีฝนมาบ้างหรือไม่เพื่อทำให้บิลเดือนถัดไปได้ลดลงกันบ้าง และต้องไม่ลืมว่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 รัฐจะตรึงไว้คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยหรือเฉลี่ยที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่อย่าลืมว่าค่าไฟฟ้าของไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดยิ่งใช้มากก็ต้องจ่ายมากขึ้น

ผลพวงของค่าไฟฟ้าที่สูง 4.18 บาทต่อหน่วยนั่นเป็นเพราะต้องไม่ลืมว่าเราได้ใช้ค่าไฟต่ำไปล่วงหน้าเพราะฝ่ายการเมืองใช้นโยบายหาเสียงต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาจนรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" ผ่านการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระต้นทุนเอาไว้ถึง 99,689 ล้านบาท โดยงวด พ.ค.-ส.ค. 2567 รัฐได้ตรึงค่าตามที่ กฟผ.เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ.จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวด งวดละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้เฉลี่ยเป็น 4.18 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

แม้ว่าค่าไฟฟ้าในงวดถัดไปที่อาจจะมีต้นทุนต่ำ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งยังคงต้องทยอยใช้หนี้ กฟผ.คืนจึงทำให้ค่าไฟเฉลี่ยของไทยยังคงอัตราสูงกันต่อเนื่องเพราะประชาชนจะต้องทยอยจ่ายหนี้คืน ...... แน่นอนว่าหนี้เหล่านี้คนไทยเป็นคนควักจ่าย แถมยังต้องบวกดอกเบี้ยที่ กฟผ.กู้มาอีกด้วย ...

สิ้นสุดตรึงดีเซล 30 บาท/ลิตร ได้เวลาใช้หนี้

ค่าไฟฟ้าก็เฉกเช่นเดียวกับราคาดีเซลที่ในที่สุดกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ถังแตก! หมดสภาพคล่องในการบริหารเพราะรัฐบาลก็ดำเนินการกันต่อเนื่องเพื่อการหาเสียงจากประชาชน โดยก่อนหน้าก็ตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรในยุค "ประยุทธ์" และมีขยับเพดานไปที่ 35 บาท/ลิตรบ้าง แล้วต่อมาก็มีการตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรและต่อเนื่องในรัฐบาล "เศรษฐา" ส่งผลให้ ณ วันที่ 28 เม.ย. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 107,600 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 60,145 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 47,455 ล้านบาท

การตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตรมีการใช้แนวทางการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลช่วยผสมกับใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหาร แต่นี่ก็คือภาษีฯ ที่เก็บจากน้ำมันฯ ที่เป็นรายได้หลักของคลังที่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้จ่าย ซึ่งการตรึงราคาในยุค "ประยุทธ์" ในที่สุด ครม.เมื่อ 25 ต.ค. 2565 ได้เคาะแผนการกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทใช้หนี้ยาว 7 ปี ถึงเดือนตุลาคม 2572 แต่การเบิกจ่ายจริงที่ 105,333 ล้านบาท

แม้จะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาสู่ยุค "เศรษฐา" ท่ามกลางวิกฤตสภาพคล่องกองทุนฯ ที่ติดลบหนัก แต่ด้วยเพิ่งมาก็ต้องตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตรกันต่อไปตั้งแต่ ม.ค. 67 แต่ที่สุดคลังก็ไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่ 1 บาทต่อลิตร จะหมดอายุลงเมื่อ 19 เม.ย. 67 ที่ผ่านมาทำให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กระทรวงพลังงานต้องประกาศขยับดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรมีผลทันที 20 เม.ย. 67 ราคาได้ปรับสู่ระดับ 29.44 บาทต่อลิตรเป็น 30.94 บาทต่อลิตรโดยแทนที่จะขึ้น 1 บาทต่อลิตรเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนกระทบและต่อมาก็ต้องปรับขึ้นอีก 50 สตางค์/ลิตร ....

การปรับขึ้นดีเซลช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นจังหวะดีที่ราคาตลาดโลกอ่อนตัวลงทำให้การขยับขึ้นเริ่มนิ่ง แต่อย่าลืมว่าด้วยกองทุนน้ำมันฯ เองมีหนี้ที่ทยอยเบิกจ่ายมาที่ต้องคืนล็อตแรกวงเงิน 30,000 ล้านบาทในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งล็อตแรกเบิกจ่ายมา 5,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงกองทุนฯ จะต้องมีรายรับเข้ามาแต่ขณะนี้ก็ยังคงต้องอุ้มดีเซลอยู่ ณ วันที่ 30 เม.ย. 67 อยู่ที่ 4.16 บาทต่อลิต รแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาสะสมใช้หนี้นอกเหนือจากรัฐบาลจะมีงบกลางมาสนับสนุนหรือการลดภาษีฯ ดีเซลช่วยเพิ่มเติม และหากไม่มี 2 อย่างนี้ ทางเดียวก็ต้องขยับเพดานราคาดีเซลในที่สุด 

 ....... ทั้งหมดก็ล้วนประชาชนควักจ่ายทั้งสิ้น

 


เอกชนส่วนใหญ่ยังกัดฟันตรึงราคา เหตุเจอสินค้าจีนดัมป์

ค่าไฟฟ้าที่เริ่มขยับสูงตั้งแต่ต้นปีหลายสินค้าได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ และแม้ค่าไฟยังคงอยู่ระดับสูงปัจจุบันและราคาดีเซลได้มีการขยับขึ้นซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้สัดส่วนน้ำมันดีเซลสูง และผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งที่ขยับเล็กน้อย แต่ภาพรวมราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้ปรับขึ้นเท่าใดนักเนื่องจากขณะนี้กำลังซื้อคนไทยค่อนข้างจะชะลอตัวจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง และแน่นอนค่าครองชีพจากทั้งระดับราคาค่าไฟและน้ำมันที่สูงอีกส่วนหนึ่ง ไหนจะดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งในและนอกระบบ ฯลฯ เรียกกันว่าคนไทยเผชิญค่าครองชีพสูงกันแบบสุดๆ ต่อเนื่อง ...

แรงซื้อที่ตกต่ำยังกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าภาพรวมชะลอตัว แล้วอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าในประเทศไม่สามารถขยับราคาได้แม้ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นเพราะเจอสินค้าจีนเข้ามาดัมป์ราคาที่ขณะนี้มีค่อนข้างมาก และผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางและย่อม (SMEs) หลายอุตสาหกรรมต้องปิดตัวแล้วหันไปนำเข้าสินค้าจีนขายก็มีจำนวนไม่น้อย ..... เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยเองคงต้องเร่งปรับและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอย่างเร่งด่วน

ลุ้นราคาพลังงานโลกชี้ชะตา

ปัจจุบันแม้ว่าไทยจะมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศในอ่าวไทยเพื่อการผลิตไฟฟ้าแต่ก็เริ่มลดลงและบางส่วนต้องหันพึ่งพิงแหล่งจากต่างประเทศ และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเสริม ...แน่นอนว่าต้นทุน LNG จึงมีส่วนสำคัญต่อค่าไฟฟ้า ดังนั้นจึงอยู่ที่ราคาตลาดโลกที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญเช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลักเนื่องจากการผลิตในประเทศมีจำนวนน้อย ดังนั้นราคาดีเซลจะขยับสูงขึ้นมากน้อยเพียงใดในระยะต่อไปนั้นจึงต้องเกาะติดราคาตลาดโลกใกล้ชิด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันตลาดโลกค่อนข้างผันผวนสูง โดยดีเซลอยู่ในระดับกว่า 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักยังคงเกิดจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ตึงเครียด โดยก่อนหน้ามีการสู้รบระหว่างอิสราเอล-อิหร่านดูเหมือนจะขยายไปสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางแต่ที่สุดกลับมีความระมัดระวังกันมากขึ้นเนื่องจากผู้นำสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปไม่ต้องการให้เกิดการบานปลายเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันจะสูงเกิดผลกระทบ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มสูงซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำมันดิบจึงเริ่มอ่อนตัวลง และมีความผันผวนตามสถานการณ์ความขัดแย้ง ทำให้ราคาดีเซลยังคงนิ่ง ทางกระทรวงพลังงานเองก็ยังคงไม่ได้ปรับราคาขึ้นราคาดีเซล ประกอบกับเมื่อดูราคาดีเซลตลาดสิงคโปร์ที่ไทยอ้างอิงในระยะนี้ก็อ่อนตัวลงเล็กน้อยสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับขึ้นสูงจากการปรับเพิ่มขึ้นของน้ำมันดีเซลคงคลัง สิงคโปร์ 14.2% สู่ระดับ 11.57 ล้านบาร์เรล ใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี และอุปทานน้ำมันมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม หากมองการอุดหนุนดีเซล ณ วันที่ 1 พ.ค. 67 ก็ยังคงอุดหนุนอยู่ถึง 4.16 บาทต่อลิตร ซึ่งนั่นก็ยังทำให้รายได้จากกองทุนฯ ยังคงติดลบต่อเนื่อง ...ซึ่งวันนี้ถือว่าไม่ใช่วิกฤตราคาน้ำมันแต่เป็นวิกฤตสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ที่จะไม่มีรายได้สะสมการใช้หนี้ที่กู้มาอุดหนุนดีเซล ซึ่งมีระยะเวลา 6 เดือนที่ต้องสะสมเงินในการจ่ายคืนเงินต้นล็อตแรกเดือน พ.ย. ซึ่งทยอยเบิกมาล็อตแรก 5,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับต้องมีรายรับจากดีเซล เพื่อทยอยชำระหนี้เงินต้นให้ได้... หากราคาตลาดโลกไม่ได้ลดต่อเนื่องส่วนนี้จำเป็นต้องขึ้นราคาดีเซลเพื่อสะสมเงินใช้หนี้ ....เว้นแต่คลังจะลดภาษีฯ ดีเซลให้หรือมีงบกลางมาสนับสนุน แต่หากลดภาษีฯ ลงไม่มากสิ่งเหล่านี้ก็แค่ชะลอการขึ้นดีเซลออกไปชั่วคราวเท่านั้น

ดังนั้น คนไทยคงต้องทำใจควักจ่ายค่าไฟฟ้าและน้ำมันโดยเฉพาะดีเซลในระดับสูงต่อไปเพื่อใช้หนี้เก่าที่รัฐควักกระเป๋าจากคนไทยไปจ่ายให้ล่วงหน้าแถมบวกดอกเบี้ยให้เพิ่ม .....แต่หากโชคดีราคาพลังงานโลกขาลงต่อเนื่องผลกระทบเหล่านี้ก็จะเบาบาง .....คงต้องติดตามความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น