โลกอนาคตที่หลายสิ่งเกิดขึ้นกับโลกใบนี้เกินกว่าจะคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด หรือแม้กระทั่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกรวน ล้วนเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศตระหนักและให้ความสำคัญกับคำว่า “ความยั่งยืน” มากขึ้น เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่สั่งสมความเชี่ยวชาญการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยมาถึง 55 ปี เพื่อส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนไทย
ก้าวแรกบนเส้นทางภารกิจ สู่ก้าวที่มั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย
ภารกิจอันสำคัญยิ่งนับตั้งแต่การไฟฟ้ายันฮี การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ และการลิกไนท์ รวมกันเป็น “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 คือ บทบาท “ผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ” โดยเร่งรัดพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยผสมผสานทั้งไฟฟ้าพลังน้ำและพลังความร้อนตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งเริ่มต้นเพียง 908 เมกะวัตต์ จวบจนปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.75% ของกำลังผลิตตามสัญญาทั้งหมดของประเทศ และพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าเชื่อมโยงทั่วถึงทั้งประเทศกว่า 39,000 วงจร-กิโลเมตร และสถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 237 สถานี พร้อมปูทางมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตและรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียน
ฟันเฟืองสำคัญต่อภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
ทุกครั้งที่ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤตนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฟผ. ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐที่ช่วยบรรเทาวิกฤตและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่วิกฤตราคาน้ำมันในปี 2516 และ 2522 กฟผ. ได้เสาะแสวงหาแหล่งพลังงานต่าง ๆ และเป็นผู้นำในการเจรจาขอรับซื้อก๊าซธรรมชาติที่สำรวจพบในอ่าวไทยเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคต่อมา
เช่นเดียวกับในช่วงปี 2565 ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กฟผ. ได้ร่วมฝ่าฟันวิกฤตพลังงานนำเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำมาผลิตไฟฟ้า โดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 ที่ปลดออกจากระบบเมื่อปี 2562 ให้กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อีกครั้ง รวมทั้งเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไป เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิง LNG ราคาแพงจากต่างประเทศ และรับภาระค่าเชื้อเพลิงบางส่วนแทนประชาชนไปก่อนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน
นอกจากนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกดำเนินธุรกิจแทนรัฐ โดยนำส่งกำไรเป็นรายได้ของรัฐเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ และรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงสนองนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ อาทิ การเป็นผู้นำเข้า LNG รายที่ 2 ของประเทศ เพื่อลดต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนโครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ จ.ระยอง เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียน
เส้นทางแห่งความเชี่ยวชาญ สู่การเสริมแกร่งธุรกิจพลังงาน
เมื่อโครงสร้างระบบไฟฟ้าของประเทศปรับเปลี่ยน ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ กฟผ. จะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน ทั้งงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โรงไฟฟ้าหลากหลายประเภทมาช่วยพัฒนาและเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับโรงไฟฟ้าพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานบริการ O&M เพื่อให้ทุก ๆ โรงไฟฟ้าผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่อง ทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง เพียงพอ และมีเสถียรภาพมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคต สร้างบริบทใหม่แห่งความยั่งยืน
เมื่อพลังงานสะอาดคือคำตอบของ “พลังงานแห่งอนาคต” ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ” (Hydro-Floating Solar Hybrid) ในพื้นที่ 9 เขื่อนของ กฟผ. รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ โดยผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และแบตเตอรี่ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดให้กับประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการให้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้อีวี และสนับสนุนให้การมาถึงของยุคยานยนต์ไฟฟ้าเกิดได้รวดเร็วขึ้น
ปลูก DNA ความยั่งยืน ร่วมขับเคลื่อนภารกิจสร้างโลกสีเขียว
การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการ “ใช้อย่างรู้คุณค่า” การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) จึงเกิดขึ้นเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ผ่านฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งได้พัฒนายกระดับเพิ่มเกณฑ์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ละเอียดและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศภายใต้โครงการปลูกป่าที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเน้นการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลนอย่างมีคุณภาพ พร้อมต่อยอดสู่โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เป้าหมาย 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565-2574) สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลบำรุงรักษาป่าที่ปลูกให้เติบโตอย่างยั่งยืน คาดว่าตลอดระยะเวลาของโครงการฯ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 23.6 ล้านตัน
จากจุดเริ่มต้น...ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ กฟผ. ยังคงเดินหน้าภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย พร้อมกับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนไทยสืบไป