xs
xsm
sm
md
lg

‘สุริยะ’ สั่งปรับแบบ 'แทรมภูเก็ต' ผุดแบบคลองแห้งแก้ปมถนนแคบ-ทำค่าโดยสารราคาถูกให้คนในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” สั่ง รฟม.ทบทวนปรับแบบ "แทรมภูเก็ต" ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ใช้โครงสร้าง "คลองแห้ง" ทางลอด 5 จุด แก้ปัญหารถติดและช่องจราจรแคบ คาดศึกษาจบใน 6 เดือน เริ่มสร้างในปี 71 เหตุรอปรับปรุงขยายถนน ทล.402 เสร็จก่อน เปิดบริการปลายปี 74 ย้ำทำค่าโดยสาร 2 อัตราประชาชนในพื้นที่ใช้ราคาถูก ส่วนรถไฟฟ้าเชียงใหม่ เน้นออกแบบกลมกลืนพื้นที่อนุรักษ์และประชาชนยอมรับ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา หรือแทรม) ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 41.7 กิโลเมตร (กม.) ว่า ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน และปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีช่องจราจรแคบ รวมถึงแนวเส้นทางโครงการที่เป็นจุดตัดระหว่างการจราจรบนทางหลวงกับระบบขนส่งมวลชนทางราง

ตนได้ให้นโยบายในการปรับรูปแบบในช่วงเส้นทางที่เป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน แต่ถนนมีช่องจราจรไม่มาก และมีพื้นที่เขตทางแคบ ซึ่งการก่อสร้างจะกระทบต่อพื้นผิวจราจรค่อนข้างมาก โดยให้ที่ปรึกษาพิจารณาแบบก่อสร้างเป็นทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel) หรือลักษณะเป็นทางลอด โดยตัดผ่านแยกต่างๆ บนถนน ทล.402 รอบนอกตัวเมืองภูเก็ต เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ อุโมงค์ทางลอดบนถนน ทล.402 รอบนอกตัวเมืองภูเก็ตนั้นมีการออกแบบรวมทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย 1. บริเวณก่อนถึงโรงเรียนเมืองถลาง ความยาวประมาณ 1.10 กม. 2. บริเวณแยกมุดดอกขาว ความยาวประมาณ 1.30 กม. 3. บริเวณผ่านเขตอำเภอถลาง ความยาวประมาณ 3.25 กม. 4. บริเวณหน้าเทศบาลศรีสุนทร ความยาวประมาณ 1.10 กม. และ 5. บริเวณแยกเกาะแก้ว-แยกบางคู ความยาวประมาณ 2.60 กม.

รฟม.จะใช้ระยะเวลาในการศึกษาทบทวนปรับปรุงแบบ 6 เดือน นอกจากนี้จะมีการศึกษาการลงทุน พร้อมศึกษาการร่วมลงทุน ( PPP) ตามขั้นตอน โดยหลักการหากเป็นไปได้รัฐควรลงทุนโครงสร้างเอง เพื่อให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้


สำหรับแผนงาน รายงานการศึกษาสมบูรณ์แล้วเสร็จและคาดว่าจะสรุปเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ช่วงเดือนตุลาคม 2568-มิถุนายน 2569 จากนั้นจะเสนอมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), คณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2569-กุมภาพันธ์ 2570 โดยเมื่อ ครม.เห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในช่วงเดือนมีนาคม 2570-สิงหาคม 2571 เป้าหมายจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนกันยายน 2571 คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในช่วงเดือนธันวาคม 2574

นายสุริยะกล่าวว่า ได้วางแผนให้การก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชน (แทรม) จังหวัดภูเก็ต สอดรับกับการดำเนินโครงการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 402 (ทล.402) และ ทล.4027 ของกรมทางหลวง (ทล.) ให้แล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในระหว่างการก่อสร้าง ส่วนรูปแบบจะเป็นระบบแทรมล้อเหล็ก หรือล้อยาง หรือแบบใด รวมถึงกรณีปรับแบบบางช่วงที่อาจส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น หรือไม่ ขอให้รอสรุปผลการศึกษาก่อน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ตนได้ให้นโยบายในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ โดยจะกำหนดค่าโดยสารแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประชาชนในพื้นที่ จะกำหนดค่าโดยสารอัตราพิเศษที่ถูกกว่า ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกด้วย 2. นักท่องเที่ยว หรือประชาชนนอกพื้นที่ที่เดินทางมาจากสนามบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะใช้อัตราค่าโดยสารที่สูงกว่าประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีความสมเหตุสมผล และคุ้มค่าต่อการลงทุนโครงการฯ ด้วย

“ผมมั่นใจและยืนยันว่าจะผลักดันโครงการรถแทรม จังหวัดภูเก็ต จะสามารถอนุมัติโครงการในยุคที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแน่นอน และมีเจตนารมณ์ในการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสมและไม่เป็นภาระประชาชนในพื้นที่ให้สามารถใช้และเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ทุกคน”

สำหรับระบบขนส่งในภูมิภาคอีกแห่งคือที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น นายสุริยะกล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นอีกจังหวัดสำคัญที่มีปัญหาจราจรและระบบขนส่งสาธารณะ มีความจำเป็นที่ต้องมีระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรฟม.ได้มีการศึกษาออกแบบโครงการไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งตนเห็นว่าต้องมีการออกแบบให้กลมกลืนกับพื้นที่อนุรักษ์ หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งต้องอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย


รายงานข่าวแจ้งว่า ตามผลการศึกษาล่าสุด แทรมภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง เส้นทางเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เป็นโครงสร้างแบบยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 4031 จากนั้นลดระดับลงสู่ระดับดินที่ทางหลวงหมายเลข 4026 มุ่งหน้าเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ต โดยแนวเส้นทางช่วงผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (อนุสาวรีย์วีรสตรี) สถานีขนส่ง เข้าสู่เขตเทศบาลเมืองภูเก็ต ผ่านถนนภูเก็ต และข้ามสะพานเทพศรีสินธุ์ (สะพานข้ามคลองเกาะผี) เพื่อเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 4021) และไปสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง

ดังนั้นจึงมีทั้งทางวิ่งระดับพื้นดิน (At Grade) ทางวิ่งลอดใต้ดิน (Underground) และทางวิ่งยกระดับ (Elevated) ทั้งหมด 21 สถานี (สถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี)

มีการศึกษาระบบรถไฟฟ้า 3 ทางเลือก คือ 1. รถไฟฟ้ารางเบา Tram ล้อเหล็ก วงเงินลงทุนรวม 35,201 ล้านบาท (ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 24,774 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 2,921 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,065 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,428 ล้านบาท)

2. รถไฟฟ้ารางเบา Tram ล้อยาง วงเงินลงทุนรวม 33,660 ล้านบาท (ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,339 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 3,955 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 990 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,363 ล้านบาท)

3. ระบบรถ ART วงเงินลงทุนรวม 17,754 ล้านบาท (ค่าเวนคืน 1,447 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 10,861 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 3,000 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถ 1,236 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 518 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 692 ล้านบาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น