xs
xsm
sm
md
lg

”สายสีเหลือง” ซ่อมเสร็จปลาย พ.ค. 67 รฟม.จี้ EBM เพิ่มมาตรการแก้จุดเสี่ยงลดความถี่ผู้โดยสารหาย 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.เผยเร่งซ่อม 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' คาดเสร็จปลายเดือน พ.ค. 67 พร้อมหารือ EBM ทบทวนแผนและเพิ่มมาตรการปิดจุดเสี่ยง รวมทั้งการช่วยเหลืออพยพ หลังเกิดเหตุแผ่นเหล็กชิ้นส่วนนำไฟฟ้าร่วง และประเมินสต๊อกอะไหล่ ขณะที่เดินรถ 3 ช่วงลดความถี่ ยอดผู้โดยสารหาย 20%

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการซ่อมรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ที่เกิดเหตุรางนำไฟฟ้า (conductor rail) หล่นบนคานทางวิ่ง และมีอะไหล่ตัวยึดรางหล่นลงบนพื้นดินด้านล่างระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีศรีอุดม (YL16) ฝั่งมุ่งหน้าสถานีสำโรง (YL23) (south bound) นั้น ล่าสุด บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน ยังอยู่ระหว่างการจัดหาอะไหล่ และอุปกรณ์ เริ่มทยอยเข้ามาแล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการซ่อมแซมแล้วเสร็จปลายเดือน พ.ค. 2567 และจะสามารถกลับมาให้บริการเดินรถได้ตามตารางปกติ

ทั้งนี้ รฟม.กังวลและให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รฟม.ได้หารือกับ EBM ประเมินเหตุการณ์ทั้งหมด เพื่อสรุปว่าจะต้องมีอะไรที่ต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้าง โดยเฉพาะแผนรองรับกรณีเกิดเหตุขึ้น การช่วยเหลือ อพยพผู้โดยสาร ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและปลอดภัย, แผนการแก้ไขจุดที่เกิดปัญหา เพื่อให้ระบบกลับมาให้บริการตามปกติอย่างรวดเร็วตามมาตรฐาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นอะไหล่ที่เกิดความเสียหายนั้น ที่ผ่านมาบริษัทจะมีแผนการสต๊อกอะไหล่ที่ต้องมีการซ่อมบำรุงตามแผนงาน ตามวงรอบการใช้งานอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้อะไหล่และอุปกรณ์ที่เสียหายไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในแผนสต๊อกปกติ หรือมีจำนวนการใช้ที่มากกว่าสต็อกที่มี ดังนั้นตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องมาหารือกัน ว่ายังสามารถบริหารจัดการได้หรือไม่หรือต้องเพิ่มสต๊อกรองรับหรือไม่ เพราะเหตุที่เกิดกับสายสีเหลืองเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดกับประเทศอื่นที่ใช้ระบบโมโนเรล ก็คงต้องประเมินกันเรื่องความเสี่ยง และแผนรองรับ

ปัจจุบันการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง แบ่งออกเป็น 3 ช่วงโดยกลางทางที่เกิดปัญหา รางนำไฟฟ้าหล่นออกมานั้น เดินรถได้ฝั่งเดียว ทำให้มีความถี่น้อย ผู้โดยสารต้องรอรถนานกว่าปกติ ซึ่งทาง EBM ปรับลดค่าโดยสารเป็นการชดเชย ในภาพรวมทำให้ผู้โดยสารสายสีเหลืองลดลงไปประมาณเกือบ 20% จากปกติกว่า 40,000 คน-เที่ยว/วัน โดยช่วงที่มีผู้โดยสารหนาแน่น คือ ฝั่ง ลาดพร้าวและ ฝั่งเทพารักษ์ ซึ่งการเดินรถได้สองทางวิ่งตามปกติ โดยที่จะได้รับผลกระทบมากคือ ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามจากฝั่งลาดพร้าวมาเทพารักษ์ ซึ่งสถิติมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางข้ามผ่านรอยต่อ ช่วงที่เกิดปัญหาประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ใช้ตารางเดินรถพิเศษ 3 ช่วง ดังนี้ สถานีลาดพร้าว (YL01)-สถานีหัวหมาก (YL11) เดินรถแบบ Short Loop มีความถี่ในการเดินรถ 10 นาที/ขบวน และช่วงเวลาเร่งด่วน 5 นาที/ขบวน

ช่วงสถานีหัวหมาก (YL11)-สถานีศรีเอี่ยม (YL17) เดินรถแบบ Shuttle Service ฝั่งขาขึ้น (NB) ปิดชานชาลาฝั่งขาล่อง (SB) ชั่วคราว ความถี่ในการเดินรถ 25 นาที/ขบวน

และช่วงสถานีศรีเอี่ยม (YL17)-สถานีสำโรง (YL23) เดินรถแบบ Short Loop โดยใช้สถานีหัวหมาก (YL11) และสถานีศรีเอี่ยม (YL17) เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร ความถี่ในการเดินรถ 10 นาที/ขบวน

โดยมีการปรับแผนการเดินรถตามเส้นทาง และความถี่ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา และ EBM ได้ปรับลดอัตราค่าโดยสาร 20% ตลอดเส้นทางให้ผู้โดยสาร จนกว่าจะกลับมาให้บริการเดินรถได้ตามปกติ ซึ่งเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 มีจำนวนผู้โดยสาร 32,268 คน-เที่ยว


กำลังโหลดความคิดเห็น