การรถไฟฯ เข้ารับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณในพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 42 ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการของมูลนิธิฯ เพื่อสังคม
วันที่ 24 เมษายน 2567 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกมูลนิธิสานใจไทย สู่ใจใต้ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 42 พร้อมกับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการของมูลนิธิสานใจไทย สู่ใจใต้ โดยมีนายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านปฏิบัติการ ฝ่ายปฏิบัติการโดยสาร เป็นผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ารับรางวัล ณ สโมสรทหารบก เขตวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรับโล่ประกาศเกียรติคุณจากมูลนิธิสานใจไทย สู่ใจใต้ ของการรถไฟฯ ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของการรถไฟฯ ในการมีส่วนร่วมดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ตามนโยบายของผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มอบหมายให้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับการรถไฟฯ ควบคู่กับช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ดูแลพี่น้องประชาชนให้เข้าถึงการใช้บริการรถไฟที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน
ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมส่งมอบความสุข นำคณะนักเรียนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เดินทางทัศนศึกษาเส้นทางรถไฟ เพื่อเรียนรู้วิธีการเดินทางด้วยรถไฟผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน พร้อมกับเรียนรู้ในเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจของการรถไฟฯ การพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมมอบถุงยังชีพ “ชุดห่วงใย” แก่ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น ตำบลตันหยงมัส บ้านมะรือโบตก บ้านสะโลว์ บ้านสะโลว์บูกิ๊ตยือแร จังหวัดนราธิวาส ตลอดจนการมอบชุดอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา การจัดการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์ร่วมกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น เพื่อสร้างความรักความสามัคคี และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับการรถไฟฯ
สำหรับโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากดำริของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เปิดโอกาสให้เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่นับถือศาสนาอิสลาม พุทธ และศาสนาอื่น เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตของครอบครัวอุปถัมภ์ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ระหว่างปิดภาคเรียนช่วงเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง สร้างความเข้าใจในบริบทสังคมประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวอุปถัมภ์กับครอบครัวเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" ได้ดำเนินการรุ่นที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว 41 รุ่น และกำลังเริ่มเข้าสู่รุ่นที่ 42 มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม 10,264 คน มีครอบครัวอุปถัมภ์ 4,640 ครอบครัว
นายเอกรัชกล่าวเพิ่มเติมว่า นับจากนี้ การรถไฟฯ ยังมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้วยการทำกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ร่วมกันกับประชาชน พร้อมเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อคิดเห็นมุมมองต่างๆ มาปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับการรถไฟฯ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทของการรถไฟฯ ในการก้าวสู่การเป็น “องค์กรเพื่อสังคม” ที่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่กับการดูแลให้คนไทยทุกคนได้สามารถเข้าถึงบริการเดินทางขนส่งทางรางที่ดีได้อย่างแท้จริง