xs
xsm
sm
md
lg

“อรรถพล” ชี้ ป.ป.ช.ฟันอดีตผู้บริหาร ปตท.สผ.รับสินบนโรลส์-รอยซ์ ต้องรอศาลชี้ขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป.ป.ช.ฟันอดีตผู้บริหาร ปตท.สผ.รับสินบนโรลส์-รอยซ์ ซื้อเครื่องแหล่งขุดโครงการอาทิตย์ ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องศาล “อรรถพล” บิ๊ก ปตท.กล่าวคดียังไม่สิ้นสุด เป็นการชี้มูลความผิด รอการชี้ขาดจากศาล

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับ ปตท.สผ.ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด และการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะต้องส่งเรื่องไปยังอัยการเพื่อพิจารณา หากพบมูลความผิดก็ยื่นเรื่องฟ้องศาล แต่หากอัยการไม่เห็นด้วยและไม่ยื่นเรื่องฟ้องศาล ทาง ป.ป.ช.มีสิทธิ์ยื่นฟ้องศาลเองได้เลย สุดท้ายก็ขึ้นกับการตัดสินของศาลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เวลา

ทั้งนี้ อาจต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เพราะบุคคลที่ถูกชี้มูลเป็นอดีตผู้บริหารปตท.สผ. แต่อยากให้เข้าใจกระบวนการตรวจสอบลักษณะนี้เป็นขั้นตอนปกติ ภายในองค์กร ปตท.เองก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเมื่อพบความผิดปกติ เพื่อให้เป็นธรรมทุกฝ่าย และป้องปรามการทุจริตในองค์กร แต่อย่างไรก็ดี คดีดังกล่าวเป็นเรื่องของอดีตผู้บริหาร ปตท.สผ. และผ่านมานาน ดังนั้นก็อาจไม่มีการตั้งทีมกฎหมายเพื่อดำเนินการใด

ทั้งนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อหน้าที่ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ กรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้ บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์

คดีนี้สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้สืบสวนสอบสวนกรณีการจ่ายเงินสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ และในการทำข้อตกลงชะลอการฟ้องระหว่างสหรัฐอเมริกากับบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการอาทิตย์ของ ปตท.สผ. ซึ่งบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้จ้างตัวกลาง และค่าคอมมิชชันที่จ่ายให้ตัวกลางส่วนหนึ่ง ถูกนำไปใช้เป็นสินบนแก่เจ้าหน้าที่ ปตท.สผ.เพื่อให้ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาโครงการดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงยกเหตุควรสงสัยขึ้นดำเนินการไต่สวน โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวน


ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2551 ปตท.สผ.ได้ดำเนินการก่อสร้างแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา และมีการจัดหา Feed Gas Turbine Compressor (เครื่องอัดอากาศแบบขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง สำหรับใช้ในการป้อนก๊าซจากแหล่งที่มาเข้าสู่กระบวนการผลิต) จำนวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 27ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,000 ล้านบาท) โดยคณะกรรมการ ปตท.สผ.มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วย นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติ

ซึ่งในการดำเนินการจัดหา นายเผ่าเผด็จ วรบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่ง (TOA) ได้กระทำการเร่งรัดเพื่อให้มีการออกหนังสือเชิญบริษัทที่จะร่วมประมูลซึ่งรวมถึงบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ ก่อนที่คณะกรรมการจัดหาของ ปตท.สผ.ให้ความเห็นชอบ ประกอบกับในการพิจารณาอนุมัติการสั่งซื้อของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล ในฐานะอนุกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้สั่งซื้อ โดยมีข้อคิดเห็น ให้จัดทำตัวเลขเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเพื่อพิจารณาว่าผู้เข้าร่วมการประมูลรายใดเป็นผู้เสนอราคาดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อ ปตท.สผ.สูงสุด เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง

แต่นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ ปตท.สผ. กลับเร่งรัดรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จากบริษัท โรลส์-รอยซ์ฯ ทั้งที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมีมติเพียงเห็นชอบในหลักการให้สั่งซื้อ

รวมทั้งนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ และนายอนุชา สิหนาทกถากุล ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจและอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ก็ไม่ได้โต้แย้งหรือชี้แจงรายละเอียดของมติคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจแต่อย่างใด

ขณะที่นายเผ่าเผด็จ วรบุตร ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชันเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทแควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของนายเผ่าเผด็จ วรบุตร จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านบาท) อันเป็นการรับทรัพย์สินที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ปตท.สผ.

ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติดังนี้ คือ 1. การกระทำของนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ นายอนุชา สิหนาทกถากุล และนายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และการกระทำของนายมารุต มฤคทัต มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

2. การกระทำของนายเผ่าเผด็จ วรบุตร มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11  และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

สำหรับ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา 


กำลังโหลดความคิดเห็น