“ส.อ.ท.” แนะ “กพช.” ขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานเชิงรุกให้เป็นรูปธรรมไม่ควรพึ่งพิงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ย้ำ "พลังงาน" คือต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพประชาชน จี้ค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 67 แม้จะตรึงที่ 4.18 บาทต่อหน่วยแต่ด้วยอากาศที่ร้อนจัดค่าไฟเป็นอัตราก้าวหน้าใช้มากจ่ายมากซ้ำเติมค่าครองชีพฉุดกำลังซื้อถดถอยทั้งที่ต้นทุนจริงไม่ควรเกิน 4.10 บาทต่อหน่วย พร้อมเสนอให้ส่งเสริม ปชช.ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เร่งรัดโครงการดีๆ ของ กฟผ.ในการลดพึ่งพิงฟอสซิล
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานควรจะมีการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานต่างๆ เชิงรุกให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วไม่ควรพึ่งพิงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเพราะต้นทุนพลังงานนับเป็นต้นทุนการผลิตและมีผลต่อค่าครองชีพประชาชน ซึ่งควรใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน
ทั้งนี้ ประการแรกเห็นว่าค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัตหรือ เอฟที (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 67 ภายหลังรับฟังความเห็นโดยเลือกแนวทางที่ถูกสุดคือ Ft ในอัตรา 39.72 สตางค์ต่อหน่วยหรือยังตรึงระดับราคาค่าไฟเฉลี่ยที่ 4.18 บาทต่อหน่วยพร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท ซึ่งหากดูต้นทุนแล้วค่าไฟเฉลี่ยในงวด พ.ค.-ส.ค.นี้ไม่ควรเกิน 4.10 บาทต่อหน่วยด้วยปัจจัยบวก ด้านต้นทุนในการผลิตไฟฟ้ามีมากกว่า ปัจจัยลบเมื่อเทียบกับงวดแรก (ม.ค.-เม.ย. 67)ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกจากแหล่งเอราวัณที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) รวมถึงราคาพลังงานโลกที่อ่อนตัวลงในช่วงดังกล่าว มีเพียงปัจจัยลบคือค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยเท่านั้น
“ค่าไฟงวด 2 จะเริ่ม พ.ค. 67 แน่นอนว่าขณะนี้ไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้าใช้มากก็จ่ายมากท่ามกลางภาวะอุณหภูมิที่บางพื้นที่สูงถึง 42 องศาเซลเซียสจนทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกไฟฟ้าทำลายสิถิติเป็นประวัติการณ์เมื่อ 22 เม.ย. ซึ่งอย่าลืมว่าค่าไฟของเราเป็นอัตราก้าวหน้าใช้มากจ่ายแพงขึ้น นี่เป็นภาระของประชาชนที่ยิ่งกระทบต่อค่าครองชีพซึ่งในที่สุดก็ทำให้กำลังซื้อถดถอยไม่ได้ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ” นายอิศเรศกล่าวย้ำ
สำหรับแนวทางที่ 2 คือการที่ กพช.ควรเดินหน้าด้านนโยบายลดภาระค่าไฟฟ้าของประเทศและส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองในการลดการนำเข้าพลังงานด้วยการส่งเสริมการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อบ (Solar rooftop) ซึ่งประกอบด้วย 2.1 ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในการติดตั้ง Solar rooftop เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ติดตั้งมากขึ้น
2.2 นโยบายการรับซื้อคืนไฟฟ้า จากประชาชน/เอกชน ในราคาที่สมเหตุสมผลกว่าปัจจุบันโดยเฉพาะโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่รับซื้อเพียง 2.20 บาทต่อหน่วยโดยเห็นว่าอัตราที่เหมาะสมควรเป็น 3 บาท/หน่วย เพื่อส่งเสริมการลงทุนติดตั้งโซลาร์ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของภาครัฐ
2.3 นโยบายส่งเสริมแหล่งเงินทุนเช่น Soft loan เพื่อให้ประชาชน, เอกชนสามารถจัดหาพลังงานทางเลือก อื่น* ทดแทนการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเดิมที่มีผลประโยชน์กระจุกตัว โดยเฉพาะควรลดการพึ่งพิง LNG นำเข้าที่ผลักภาระความเสี่ยงต้นทุนการนำเข้าให้ผู้บริโภคด้วยระบบ Cost plus อีกทั้งยังเป็นภาระหนี้กฟผ.กว่า 1 แสนล้านบาทเช่นปัจจุบัน
2.4 เร่งรัดโครงการดีๆ ของกฟผ.ที่ลดการพึ่งพิงฟอสซิล เช่น โครงการ Solar Floating ในเขื่อนต่างๆ และโครงการ Mini firm Solar (Solar พร้อม Battery สำรองไฟฟ้า) เป็นต้น