กรมรางเผยผู้ใช้บริการระบบรางสะสม 6 วัน รวมกว่า 6.55 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 1.15 ล้านคน-เที่ยวหรือ 21.22% เฉพาะวันที่ 16 เม.ย. 67 มีกว่า 0.79 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 18.24%
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า วันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะสม 6 วัน (11-16 เม.ย. 2567) มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 6,556,681 คน-เที่ยว เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 6 วันเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน 1,147,786 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.22 (11-16 เม.ย. 2566 จำนวน 5,408,895 คน-เที่ยว) และมากกว่าประมาณการ 58,602 คน-เที่ยว หรือสูงกว่าประมาณการร้อยละ 0.9 (ประมาณการ 6,498,079 คน-เที่ยว)
แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 485,323 คน-เที่ยว (สะสม 6 วันเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา 72,668 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.61) และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถไฟชานเมือง (รวมสายสีแดง) จำนวน 6,071,358 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี 61 คน) (สะสม 6 วันเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1,075,118 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.52)
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันที่หกของวันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีประชาชนใช้บริการระบบรางรวม 793,018 คน-เที่ยว น้อยกว่าประมาณการ 93, 508 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 10.55 (ประมาณการ 886,526 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 82,530 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถไฟชานเมือง (รวมสายสีแดง) จำนวน 710,488 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลเชื่อมต่อสายสีแดงฟรี 6 คน) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการรวม 211 ขบวน (รวมขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารเที่ยวล่อง (เข้ากรุงเทพฯ) 4 ขบวน จำนวน 2,877 คน-เที่ยว) มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 82,530 คน-เที่ยว มากกว่าสงกรานต์ปี 66 จำนวน 15,566 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.25 (16 เมษายน 2566 จำนวน 66,964 คน-เที่ยว) แต่น้อยกว่าประมาณการ 14,010 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 14.51 (ประมาณการ 96,540 คน-เที่ยว) แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 37,960 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 44,570 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออกจำนวน 34,472 คน-เที่ยว และผู้โดยสารขาเข้า 48,058 คน-เที่ยว
โดยพบว่าสายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 28,629 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 13,259 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 15,370 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้บริการ 23,683 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 8,725 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 14,958 คน-เที่ยว) สายเหนือ 15,904 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 6,290 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 9,614 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 8,617 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 3,322 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 5,295 คน-เที่ยว) และสายแม่กลองและมหาชัย 5,697 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 2,876 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 2,821 คน-เที่ยว)
2. ระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารวม 2,359 เที่ยว มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 710,488 คน-เที่ยว เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวน 106,770 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.69 (วันที่ 16 เมษายน 2566 ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวน 603,718 คน-เที่ยว) แต่น้อยกว่าประมาณการ 79,498 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 10.06 (ประมาณการ 789,986 คน-เที่ยว) ประกอบด้วย
2.1 รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 42,037 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2566 จำนวน 5,760 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.88)
2.2 รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 308 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 18,267 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดง 6 คน-เที่ยว) (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2566 จำนวน 6,818 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.55)
2.3 รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ให้บริการ 218 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 27,806 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2566 จำนวน 11,284 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.30)
2.4 รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ให้บริการ 250 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 189,893 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2566 จำนวน 31,987 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.26)
2.5 รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 760 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 379,749 คน-เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2566 จำนวน 4,515 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.20)
2.6 รถไฟฟ้าสายสีทอง ให้บริการ 217 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 9,661 คน- เที่ยว (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2566 จำนวน 3,331 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.62)
2.7 รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ให้บริการ 216 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 17,863 คน-เที่ยว (เริ่มเปิดทดลองให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 66)
2.8 รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ให้บริการ 216 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 25,212 คน-เที่ยว (เริ่มเปิดทดลองให้บริการตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 66)
โดยมีอุบัติเหตุทางรถไฟ 2 ครั้ง โดยเมื่อเวลา 08.50 น. ผู้โดยสารเสียหลักหกล้มขณะขึ้นขบวนรถด่วนพิเศษที่ 40 (สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์) ที่สถานีสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหญิง 1 ราย เจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาลพุนพิน ขบวนรถไม่ได้รับผลกระทบล่าช้า และเวลา 22.15 น. ขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารที่ 934 (อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์) ชนกระบือ 2 ตัวบริเวณกิโลเมตรที่ 403/6 ระหว่างสถานีหนองเต็ง-สถานีกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่มีผู้โดยสารได้รับอันตรายแต่ส่งผลกระทบขบวนรถล่าช้าที่เกิดเหตุ 2 นาที ส่วนโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าให้บริการตามปกติ โดยไม่มีเหตุขัดข้อง
@17 เม.ย. 2567 “สายสีแดง” เปิดบริการเวลา 04.00 น. ถึง 24.00 น.
สำหรับวันที่ 17 เม.ย. 2567 ซึ่งคาดการณ์ว่ายังมีประชาชนบางส่วนเดินทางกลับจากภูมิลำเนาในภูมิภาคต่างๆ สู่กรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางราง ได้ประสานไปยัง รฟท.ในการจัดขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสาร จำนวน 2 ขบวนในเส้นทางอุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ และอุดรธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ รวมทั้งการเพิ่มตู้โดยสารเพื่อให้เพียงพอและรองรับต่อการเดินทางกลับของประชาชน และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ได้ขยายเวลาเปิดให้บริการจากเวลา 05.00 น. เป็นเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 04.00 น. ถึง 24.00 น. เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนจากทั้งรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่จอดรับส่งที่ประตู 3 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรองรับผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง