ส.อ.ท.มองเศรษฐกิจไทยแม้อาจจะเริ่มฟื้นตัวจากหลายปัจจัยแต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ ศก.ไทยเปราะบางโดยเฉพาะความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ต้องติดตามใกล้ชิดซึ่งอาจกระทบการส่งออกของไทย และการดึงการลงทุน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันอาจขยับสูง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยขณะนี้แม้อาจจะเริ่มฟื้นตัวเมื่อรัฐบาลเริ่มออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะมาในช่วง พ.ค.นี้ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือภูมิรัฐศาสตร์ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงตึงเครียด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งออกไทยและอาจกระทบต่อการดึงการลงทุนที่รัฐบาลมุ่งเน้นดำเนินการได้ซึ่งจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิด
“กรณีลุกลามไปสู่สงครามตะวันออกกลางสิ่งที่กังวลคือ การขนส่งที่อาจจะกระทบการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันราคาน้ำมันต่างๆ อาจขยับสูงกลายเป็นปัญหาของไทยท่ามกลางหนี้กองทุนติดลบแสนล้านบาทก็ยิ่งทำให้ต้นทุนต่างๆ จะแพงไปด้วย แน่นอนว่าขณะนี้สินค้าอาจจะยังไม่ขึ้นแต่หากดีเซลขยับขึ้นไปอีกค่าขนส่งที่เพิ่มย่อมผลักไปยังราคาสินค้าเช่นกัน” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับการส่งออกของไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 60% ต่อ GDP ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กกร.) มองไว้เป้าโต 2%-3% แต่อาจเสี่ยงว่าจะไม่โตในระดับดังกล่าว ซึ่งหากโต 2% เนื่องจากแต่ละเดือนจะต้องส่งออกราว 2.44 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาไทยทำได้ที่ 4.6 ล้านเหรียญ เท่ากับเฉลี่ยเดือนละ 2.3 ล้านเหรียญเท่านั้นคงจะต้องดูในระยะต่อไปท่ามกลางสถานการณ์ตะวันออกกลางที่ยังคงน่ากังวล
“ส่งออกเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวระดับต่ำที่ 2% เฉลี่ยเดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์ แต่ 2 เดือนที่ผ่านมายังทำไม่ได้เพียงแค่เฉลี่ย 23,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสงครามขยายตัวรุนแรง ในขณะที่น้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน ดังนั้นต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ ระดับราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นจาก 30 บาท/ลิตรเป็น 30.44 บาท/ลิตรก็ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกหากสงครามยืดเยื้อและราคาน้ำมันตลาดโลกย่อมขึ้นสูง ในขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วยก็ค่อนข้างสูงทำให้หนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้วก็จะมีมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในเมียนมาที่มีการสู้รบหนักขณะนี้มีความห่วงในเรื่องของการค้าชายแดนที่เมืองเมียวดีซึ่งไทยส่งออกไปจำนวนมาก ซึ่งได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องว่าอาจจะทำให้การค้าชายแดนของไทยลดลงได้ เบื้องต้นพบว่ามีผลกระทบยังไม่มากนักเนื่องจากมีการใช้เงินบาท และเงินจ๊าด โดยมูลค่าการส่งออกค้าชายแดนไทยรวมอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่เมียนมา 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากยืดเยื้อก็อาจจะลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามก็ยังคงติดตามใกล้ชิดเพราะหากรุนแรงมากขึ้นย่อมส่งผลแน่นอน