ผู้ถือหุ้นปตท.ไฟเขียวการจ่ายเงินปันผลงวดปี66ที่อัตราหุ้นละ2บาท “อรรถพล”ชี้แจงปตท.หาองค์กรกลางมาวินิจฉัยตีความค่าShortfall 4,300 ล้านบาทที่ได้จ่ายตามคำสั่งกกพ.เมื่อม.ค.67 หลังสงวนสิทธิ์การฟ้องร้องคำสั่งกกพ. มั่นใจการคำนวณPool Gasถูกต้องมาตลอด
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (PTT) ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริษัท ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 โดยที่ประชุมได้พิจารณาและอนุมัติทุกวาระที่นำเสนอ โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในรอบปี 2566 และอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท โดยได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท เมื่อกันยายน 2566 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 30 เมษายน 2567
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมันที่มีบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR)ดำเนินการอยู่ ซึ่ง ORได้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการติดตั้งสถานีบริการ EV Station PluZ อยู่ในปั๊มน้ำมันPTT Station จำนวน 859แห่งครอบคลุมทั่วประเทศเมื่อสิ้นปี2566และปีนี้จะขยายเพิ่มเติมอีก 550แห่ง ซึ่งเป็นโอกาสของOR เนื่องจากการชาร์จอีวีค่อนข้างใช้เวลา ทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านค้าต่างๆภายในสถานีบริการ PTT Station รวมทั้งศูนย์Fit Auto ก็สามารถให้บริการดูแลรถอีวีได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบจากปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจ โดนราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้คาดว่าเฉลี่ยที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นายอรรถพล กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินค่าShortfall 4,300ล้านบาทตามคำสั่งกกพ.ว่า ปตท.ได้จ่ายเงินค่าการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall) วงเงิน 4,300 ล้านบาท ตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยปตท.ได้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อเดือนมกราคม 2567 ซึ่งปตท.ได้สงวนสิทธิ์ในการหาองค์กรกลางมาวินิจฉัยตีความที่แตกต่างจากนี้ ดังนั้น เมื่อการดำเนินการเป็นอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตามถึงข้อตัดสิน
ทั้งนี้ กกพ. ได้ยกฟ้องคำอุทธรณ์ปตท. โดยให้ปตท.คืนเงิน Shortfall ภายใต้สัญญา DCQ (Daily Contract Quantity) เป็นจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (แปลงเอราวัณ) ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 โดยให้เหตุผลว่าผู้ผลิตก๊าซฯ ที่ส่งก๊าซฯ ไม่ครบตามปริมาณในสัญญาต้องคิดราคาก๊าซฯ งวดต่อไปในราคา 75% จากราคาปกติตามจำนวนที่ขาดส่ง เป็นผลให้ ปตท. ซื้อก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวต่ำกว่าปกติ 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 4,300 ล้านบาท แต่ปตท. กลับใช้ราคาเต็มของก๊าซฯ ดังกล่าวมาคำนวณในราคา Pool Gas ทั้งนี้ ทางปตท.มั่นใจว่าการคำนวณ Pool Gas ถูกต้องมาตลอด ตามการบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งกกพ. โดยได้สงวนสิทธิ์การฟ้องร้องคำสั่งของ กกพ.หรือไม่เป็นเรื่องในอนาคตที่จะพิจารณาต่อไป
ส่วนการปิดปั๊มNGV บางแห่งเนื่องจากสิ้นสุดสัญญาเช่าที่ดิน และเจ้าของที่ไม่ต่อสัญญา แต่ทางปตท.จะบริหารจัดการเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเติมNGVในสถานีอื่นแทน โดยมีแอพพลิเคชันค้นหาปั๊มNGVใกล้เคียง เพื่อให้บริการลูกค้า