“สุรพงษ์”เปิดกิจกรรม“สงกรานต์ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน” เชื่อมรถ ต่อราง เดินทางสะดวก รฟท.จัด 214 ขบวนต่อวัน-เสริมพิเศษอีก 16 ขบวนพร้อมเพิ่มตู้โดยสารเต็มหน่วยลากจูง ประสานท้องถิ่น ตั้งด่านเฝ้าระวัง จุดตัดทางรถไฟ
วันที่ 11 เมษายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยประชาชนที่ใช้บริการรถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ตามนโยบาย “สะดวก สบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ” และ ปล่อยแถวตำรวจ เจ้าหน้าที่รถไฟ เจ้าหน้าที่ บขส. เจ้าหน้าที่เทศกิจ บูรณาการความร่วมมือเพื่อดูแลความปลอดภัย ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “สงกรานต์ปลอดภัย ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน” รองรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ดูแลการเดินทางของพี่น้องประชาชน ให้ถึงจุดหมายในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างสวัสดิภาพ เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุให้ได้ตามเป้าหมาย คือ “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” อีกทั้งยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน ตามนโยบาย “Smart Seamless เชื่อมรถ ต่อราง สะดวกเดินทาง สร้างความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์” เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพในการเดินทางแก่พี่น้องประชาชน
ซึ่งจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องที่ผ่านมา ซึ่งมีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แม้ว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนจะร่วมกันรณรงค์ป้องกันอย่างเต็มที่ แต่สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก็ยังสูงอยู่ จากข้อมูลที่เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 พบว่าผู้เสียชีวิตถึง 264 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2,208 คน นับเป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลของประเทศ ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมในการขับขี่ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจราจรแทบทั้งสิ้น ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567
โดยกระทรวงคมนาคมบูรณาการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ และให้ทุกภาคส่วนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง และลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย จึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดให้ความสำคัญกับความปลอดภัย อุบัติเหตุต้องเป็น “ศูนย์”
สำหรับปัญหาเมาแล้วขับได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อดูแลเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะถนนที่มีจุดตัดทางรถไฟที่เป็นทางลักผ่าน ทั่วประเทศจำนวน 616 แห่ง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ในระห่างดำเนินการปิดนั้น ทางรฟท.ได้ประสานกับหน่วยงานท้องถิ่น ขอความร่วมมือตั้งด่านก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟ และจัดอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าประจำด่าน เพื่อดูแลเฝ้าระวังอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลในปีที่ผ่านมา ไม่มีอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินประชาชน
@รฟท.จัด 214 ขบวนต่อวัน-เสริมพิเศษอีก 16 ขบวนพร้อมเพิ่มตู้โดยสารเต็มหน่วยลากจูง
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การรถไฟฯ ได้จัดแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมอบให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมความพร้อม เพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถประจำทั้ง 214 ขบวนต่อวัน และเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษอีก 16 ขบวน ตลอดจนได้จัดเตรียมรถโดยสารสำหรับหมุนเวียนเพิ่มเติมอีก 40 คัน สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 คนต่อวัน ซึ่งมีจำนวนเพียงพอ ไม่เกิดปัญหาผู้โดยสารตกค้างแต่อย่างใด
นอกจากนี้ การถไฟฯ ยังได้ร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จัดรถ บขส.ให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วโดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนา(ขาออก) ล่วงหน้าในเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือและสายตะวันออกที่เดินทางระหว่างวันที่ 9 – 11 เมษายน 2567 เที่ยวเวลาตั้งแต่ 18.00 น. – 22.00 น. สามารถรอขึ้นรถ บขส.ได้ที่บริเวณประตู 2 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมีความพร้อมทั้งสถานที่และมีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ รถเข็นสัมภาระ ที่พักคอยผู้โดยสาร ร้านค้า เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเชื่อมระหว่างรถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ
@เผย 5-10 เม.ย. มีประชาชนเดินทางแล้วรวม 4.4 แสนคน
สำหรับบรรยากาศเดินทางของพี่น้องประชาชนทางรถไฟในช่วงเทศกาลสงการณ์ 2567 มีประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวทางรถไฟล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2567ที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัด โดยตั้งแต่วันที่ 5 – 10 เมษายน 2567 มีผู้โดยสารเดินทางจำนวนทั้งสิ้น 443,045 คน เฉลี่ยวันละ 73,841 คน สำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารเดินทางหนาแน่นที่สุดคือ สายใต้ มีผู้โดยสารเดินทาง จำนวน 155,737 คน รองลงมา คือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 110,857 คน สายเหนือ 82,914 คน สายตะวันออก 59,054 คน สายมหาชัย 28,917 คน และสายแม่กลอง 5,566 คน
นอกจากการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว การรถไฟฯ ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้โดยสาร โดยได้ร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนรถไฟ โดยจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ตรวจตราความเรียบร้อยบนขบวนรถ พร้อมแนะนำข้อปฏิบัติ ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามนั่งหรือยืน บริเวณบันไดและข้อต่อของขบวนรถ
ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ และพนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยดูแลเพิ่มเติมอีกทาง พร้อมกับกำชับเจ้าหน้าที่ประจำสถานีให้ประกาศประชาสัมพันธ์เวลาขบวนรถโดยสารเข้า - ออก หรือขบวนรถล่าช้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารทราบเวลาเดินทางล่วงหน้าได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ การรถไฟฯ โดยฝ่ายช่างกล ยังได้จัดตั้งจุดตรวจการอีก 14 จุด ทั่วประเทศ สำหรับตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ สารเสพติดของพนักงานขับรถก่อนปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกับให้ตรวจสอบความพร้อมของขบวนรถหลัก และจัดเตรียมขบวนรถสำรองตามจุดต่างๆ ทุกเส้นทาง เพื่อลดความล่าช้ากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด CCTV ทั้งในสถานีรถไฟและบนขบวนรถทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง
และการรถไฟฯ ยังมีการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น จัดอาสาสมัครเฝ้าระวังทางผ่านเสมอระดับรถไฟ – รถยนต์ ที่มีความเสี่ยง หรือบริเวณที่เป็นชุมชนหนาแน่น เพื่อป้องกันเหตุทั้งทางถนนและทางรถไฟ ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 จนสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ พร้อมกับได้นำระบบติดตามขบวนรถไฟ (TTS:Train Tracking System) ที่สามารถตรวจสอบเวลาและตำแหน่ง ขบวนรถทุกขบวนมาใช้ โดยระบบจะแสดงสถานะการเดินรถให้ทราบทันที ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารและผู้ที่มารอรับที่ปลายทาง สามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ช่วยสร้างความมั่นใจในการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอย่างปลอดภัย