“พิมพ์ภัทรา” เร่งขนแคดเมียนกลับตาก สั่งคุมเข้มตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง เก็บ - ขน - ฝังกลบ ห้ามกระทบประชาชนเด็ดขาด ยันต้องขนกลับภายใน 30 เม.ย. ปิดหลุมฝังภายใน 15 พ.ค.
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดการกากแคดเมียมที่ปัจจุบันถูกพบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯว่า ขณะนี้คณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานสถานการณ์ล่าสุด หารือร่วมกับบริษัท บมจ.เบาว์ แอนด์ บียอนด์ ถึงทางแก้ปัญหาการขนกากตะกอนแคดเมียมกลับมาฝังที่เดิมในจ.ตากเบื้องต้นทางบริษัทฯ ระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับทางราชการในการแก้ปัญหา ซึ่งทางคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีคำสั่งถึงบริษัท บียอนด์ฯ จำนวน 3 ฉบับ เพื่อให้เกิดการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วตามเป้าหมายที่กำหนด
สำหรับคำสั่งประกอบด้วย คำสั่งให้เพิกถอนการอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน , คำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไข ปรับปรุงโรงงาน และปฏิบัติให้ถูกต้อง และระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน แก้ไข ปรับปรุงและปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยสาระสำคัญของทั้ง 3 คำสั่ง เพื่อแจ้งเพิกถอนการอนุญาตขนกาก และสั่งการตาม พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ให้นำกากแคดเมียมกลับมาฝังกลบที่เดิม โดยต้องจัดทำแผนการขนย้ายกากมาให้พิจารณาภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับคำสั่ง และให้ทำการขนกากตะกอนแคดเมียมทั้งหมดกลับมาภายใน 30 เม.ย. รวมถึงการปิดหลุมฝังกลบให้ถูกต้องเรียบร้อยตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีเอไอ) ภายในวันที่ 15 พ.ค. 67
แนวทางเบื้องต้น ในการจัดการกากแคดเมียมต้องเป็นไปตามมาตรฐานห้ามกระทบประชาชน แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน 1. แนวทางการจัดเก็บ และภาชนะบรรจุ ให้เก็บรักษาในที่มั่นคงปลอดภัย โดยการจัดเก็บและภาชนะบรรจุ ให้จัดเก็บภายในอาคารหรือสถานที่มีหลังคา กรณีเก็บนอกอาคาร ให้ขนย้ายเข้าไปในอาคาร หรือจัดหาวัสดุปิดคลุมให้มิดชิดและมีมาตรการป้องกันการชะล้าง ให้รวบรวมกากที่ฟุ้งกระจายบนพื้นโดยรอบโรงงานกลับคืนถุงกากตะกอน ส่วนการดำเนินการก่อนขนย้าย ให้ตรวจสอบภาชนะบรรจุ กรณีภาชนะบรรจุเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนใหม่หรือหาภาชนะบรรจุที่มีขนาดใหญ่สวมใส่ , ให้ทำเครื่องหมายกำกับแต่ละถุงเพื่อใช้ติดตามตรวจสอบ และกระบวนการหลังขนย้ายเสร็จสิ้น ให้ทำความสะอาดสถานที่โดยการดูดฝุ่นเท่านั้น
2.แนวทางด้านการขนส่ง รถที่ใช้ในการขนส่งต้องมี ลักษณะ ดังนี้ รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ปิดทึบ หรือรถบรรทุกแบบมีผนังข้างปิดทึบทุกด้านแล้วใช้ผ้าใบปิดคลุม ด้านบน ให้ติดสัญลักษณ์ “วัตถุอันตราย” ไว้ที่ตัวรถขนส่ง , ใช้รถขนส่งที่ได้รับอนุญาตขนส่งวัตถุอันตราย (วอ.8) ใช้เอกสารกำกับการขนส่ง (Manifest) และทำระบบติดตามการขนส่งโดยเฉพาะ ประสานตำรวจทางหลวงนำทาง และกำหนดจุดพักรถ
3.แนวทางด้านการจัดการบ่อเก็บกาก ตรวจสอบบ่อเก็บกากด้าน โครงสร้างทางวิศวกรรม นำทีมตรวจสอบโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) , ปูก้นบ่อเก็บกากด้วยแผ่นพลาสติกกันซึม HDPE หนา 1.5 มม. ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล , จัดเตรียมสถานที่พักกากในอาคาร , ตรวจสอบกากก่อนนำไปยังบ่อเก็บกาก , วิเคราะห์กากตะกอนโดยห้องปฎิบัติการ เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับเสถียรเพิ่มหรือไม่ (ทำให้ค่าความเป็นพิษ ความเป็นกรดน้อยลง) กรณีที่ต้องปรับเสถียรเพิ่ม ต้องเตรียมสถานที่และอุปกรณ์สำหรับการปรับเสถียร , ควบคุมการฝังกลบกากโดยบเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา และจัดให้มีวัสดุปิดคลุมบ่อเก็บกากทุกครั้งที่ไม่ได้นำกากไปฝังกลบ
รายงานแจ้งว่า ปัจจุบันมีกากตะแคดเมียมที่ถูกพบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. รวม 12,421.11 ตัน ประกอบด้วย บริษัท เจ แอนด์ บี (โรงงานประเภท 106/60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 6,151 ตัน ,บริษัท เจ แอนด์ บี (โรงงานประเภท 60) สมุทรสาคร ตรวจพบ 227 ตัน ,โกดังต.คลองกิ่ว จ.ชลบุรี ตรวจพบ 4,391.11 ตัน ,บริษัท ซินหงษ์เฉิง จ.สมุทรสาคร ตรวจพบ 1,034 ตัน , โกดังคลองมะเดื่อ สมุทรสาคร ตรวจพบ 468 ตัน บริษัท ล้อโลหะไทยฯ แถวบางซื่อ กรุงเทพ ตรวจพบ 150 ตัน