กพท.ประสาน กรมท่าอากาศยาน ขยายเวลาให้บริการสนามบินที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นช่วงสงกรานต์นี้ กรณีเที่ยวบินล่าช้า เพื่อไม่มีปัญหาผู้โดยสารตกค้าง พร้อมลงพื้นที่ดอนเมือง สุ่มตรวจค่าโดยสาร ยังไม่พบแพงเกินเพดาน
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมดำเนินการตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 นั้น ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้โดยสารเตรียมวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เช่น การเตรียมเอกสารยืนยันตัวตนในการโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ รูปแบบบัตรผ่านขึ้นอากาศยาน (Boarding Pass) ที่สามารถใช้ได้ สิทธิผู้โดยสารกรณีสายการบินภายในประเทศล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบิน เป็นต้น
ด้วยปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสารช่วงเทศกาลสงกรานต์ กพท. จึงได้ประสานขอความอนุเคราะห์สนามบินที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นของกรมท่าอากาศยาน เช่น ท่าอากาศยานอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ให้ยืดหยุ่นเวลาปิดทำการ ในกรณีที่สายการบินเกิดความล่าช้า เพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้างในแต่ละวัน
นอกจากนี้ฝ่ายมาตรฐานปฏิบัติการบิน (OPS) และฝ่ายสมควรเดินอากาศและวิศวกรรมการบิน (AIR) ได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการดำเนินงานของสายการบินต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้ตรวจสอบด้านการปฏิบัติการบิน ด้านระบบจัดการการบิน ด้านความปลอดภัยห้องโดยสาร ด้านวัตถุอันตราย และด้านความสมควรเดินอากาศ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 26 ว่าด้วยใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate)
นอกจากนี้ ในวันที่ 11 เม.ย. 2567 นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตรวจสอบการขายตั๋วโดยสารเครื่องบินเกินเพดานราคา สำหรับเส้นทางภายในประเทศ โดยตรวจสอบการแสดงเพดานราคาค่าโดยสาร ณ สถานที่จำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบิน รวมทั้งสุ่มตรวจค่าโดยสารช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเส้นทางยอดนิยม เช่น กรุงเทพฯ–เชียงใหม่ กรุงเทพฯ–ภูเก็ต กรุงเทพฯ–หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ เป็นต้น ซึ่งยังไม่พบว่า มีสายการบินใดขายตั๋วโดยสารเกินเพดานราคาที่ กพท. กำหนด
ทั้งนี้ หลังจากมีการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กพท. ได้สำรวจราคาค่าโดยสารพบว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีจำนวนเที่ยวบินเพียงพอต่อความต้องการและสามารถเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร โดยราคาค่าโดยสารเฉลี่ยใน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ มีราคาลดลงจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา แต่ด้วยจำนวนอากาศยานที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในบางเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางสูงและมีจำนวนสายการบินให้บริการน้อยจึงตรวจสอบพบว่า ค่าโดยสารสูงใกล้เคียงกับอัตราเพดาน เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-แม่สอด กรุงเทพฯ-นครพนม กรุงเทพฯ-เลย กรุงเทพฯ-ระนอง เป็นต้น โดยราคาที่สูงขึ้นนี้พบเฉพาะช่วงสองวันแรกของการเดินทางเท่านั้น ซึ่ง กพท. จะเร่งรัดดำเนินการร่วมกับสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการทำการบินไปยังเมืองรองในระยะยาวต่อไป
อย่างไรก็ตาม กพท.ได้กำชับสายการบินให้รักษามาตรฐานการให้บริการทั้งเรื่องความตรงต่อเวลาและระดับคุณภาพการให้บริการ รวมทั้งเน้นย้ำให้สายการบินบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิก หากเกิดกรณีเที่ยวบินล่าช้า สายการบินต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบทันที และต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 อย่างเคร่งครัด และขอให้สายการบินจัดให้มีพนักงานผู้มีอำนาจตัดสินใจประจำ ณ จุดที่ให้บริการสายการบินตลอดระยะเวลาที่มีเที่ยวบินให้บริการ รวมทั้งมีช่องทางการติดต่อและรับข้อร้องเรียนของผู้โดยสารที่มีประสิทธิภาพ