ปลัดอุตสาหกรรมได้รับมอบหมาย “รมว.พิมพ์ภัทรา” ประชุมด่วนถกร่วม 6 หน่วยงาน พบกากแคดเมียมแล้วกว่า 12,500 ตัน ในจังหวัดสมุทราสาคร จังหวัดชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เร่งจัดการส่งกลับต้นทางโดยด่วน!!
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) ให้ลงพื้นที่ประชุม คณะกรรมการ 6 หน่วยงาน เพื่อติดตามสถานการณ์กากแคดเมียม ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายแพทย์ยงเจือ เหล่าศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุข พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พลตำรวจตรี วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.)
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม เชิญทั้ง 6 หน่วยงาน เข้าประชุมนัดแรก เพื่อหาแนวทางการดำเนินการกากแคดเมียม ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเรื่องที่ 1. คือการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนรับทราบและเข้าใจอย่างถูกต้อง โดยกากแคดเมียมที่จังหวัดตาก ได้มาจากการถลุงแร่สังกะสี ซึ่งมีส่วนประกอบของแร่ทองแดง และแร่แคดเมียม ในเหมืองแร่ในจังหวัดตาก ซึ่งได้ปิดตัวลงไปนานแล้ว และฝังกลบอยู่ใต้ดินอย่างปลอดภัยในจังหวัดตาก ซึ่งกากแร่แคดเมียมที่พบ มีการปรับเสถียร ผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (ปูนซีเมนต์ทั่วไปประเภทหนึ่ง ที่นิยมใช้แพร่หลายทั่วโลกในงานก่อสร้าง) เพื่อป้องกันการชะล้างและการฟุ้งกระจายในอากาศ
2. การสืบหากากแคดเมียมในส่วนที่ยังหาไม่พบ ซึ่งขณะนี้ได้เจอกากแคดเมียมแล้ว กว่า 12,500 ตัน ในจังหวัดสมุทราสาคร จังหวัดชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 3. การจัดการกับกากแคดเมียมที่พบ โดยได้มอบหมายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ วางแผนและวางแนวทาง รวมถึงมาตรการป้องกันความปลอดภัยในการขนย้าย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และจัดเตรียมพื้นที่รวมถึงสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ทั้งก่อนและหลังขนย้าย โดยมีแนวทางนำกลับไปฝังกลบที่บ่อเดิมในจังหวัดตากซึ่งเป็นบ่อซีเมนต์ และปูด้วยพลาสติก HDPE หนา 1.5 มิลลิเมตร (High-Density Polyethylene เป็นวัสดุพลาสติกที่ผลิตจากการพอลิเมอร์ไรเดอร์ในสภาวะแรงดันสูง) ตามที่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment EIA) กำหนด