xs
xsm
sm
md
lg

"มนพร’เร่งตั้งคณะทำงานศึกษาย้าย"ท่าเรือคลองเตย"ตามคำสั่ง"เศรษฐา"ชี้อาจย้ายบางส่วน แก้ปัญหาชุมชนแออัด-ลดฝุ่นพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เศรษฐา"สั่งย้าย"ท่าเรือคลองเตย" มอบ คมนาคม-กทม. ทำแผนย้ายเร็วที่สุด แก้ปัญหาชุมชนแออัด ที่รกร้งและฝุ่นพิษ "มนพร’รับลูก เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาฯ ชี้ต้องดูหลายปัจจัย มีสัญญาเช่าหลายส่วน คาดอาจย้ายบางส่วน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากที่ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือที่ นร.0505/ว(ล) 7421 ลงวันที่ 4 เม.ย. 2567 เรื่อง การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) โดยเป็นการทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีรายละเอียดดังนี้

ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 นายกรัฐมนตรีเสนอว่าเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประชาชนชาวกรุงเทพฯในภาพรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองที่กำหนดให้พิจารณาการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ จึงขอมอบหมายการดำเนินการดังนี้

1.ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับ กทท. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพฯออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้พิจารณาให้ครบวงจรครอบคลุมส่วนการย้ายคลังและโรงเก็บน้ำมันที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วย แล้วให้รายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

2.กระทรวงคมนาคมร่วมกับกทท. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ ในส่วนปัจจุบันที่ยังเป็นพื้นที่ว่างหรือพื้นที่ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการแก้ปัญหาต่างๆในพื้นที่ เช่น ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาจราจร และปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ทั้งนี้ให้การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจนเหมาะสมและแล้วเสร็จโดยเร็วโดยควรใช้พื้นที่ในเพื่อประโยชน์สาธารณะของกรุงเทพเป็นสำคัญแล้วให้รายงานผลต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป


@’มนพร’ เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษา

ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้หารือในที่ประชุมครม.ถึงกรณีการย้ายท่าเรือกรุงเทพ แต่ยังไม่ได้บอกว่า จะให้ย้ายท่าเรือกรุงเทพ ออกไปทั้งหมดเลย

ขณะที่ มีหลายหน่วยงานได้แสดงความเห็นถึงข้อกังวลกรณีที่บริเวณ ท่าเรือ มีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงกลั่นน้ำมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งนายกฯ จึงหารือว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีมาตรการแนวทางที่จะย้ายท่าเรือกรุงเทพฯออกไปบางส่วน ย้ำว่าบางส่วน แล้วนำพื้นที่บางส่วนที่ย้ายออกไปพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้คนกรุงเทพฯ และเป็นการใช้พื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ อีกทั้ง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว เต็มไปด้วยที่รกร้างบ้าง แหล่งเสื่อมโทรมบ้าง ชุมชนบุกรุกบ้าง จึงให้กระทรวงคมนาคมหาแนวทางในการลดความแออัดลง

รมช.คมนาคมกล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งในส่วนของการท่าเรือฯ มีผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพรองรับไว้อยู่แล้ว ซึ่งตนได้แจ้งกับนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผอ.กทท.ให้นำข้อมูลมาหารือ เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายเรื่อง นอกจากแผนศึกษาดังกล่าวแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงสัญญาเช่าพื้นที่ และ สัญญาจ้างต่างๆ ที่มี ว่าสัญญาเหล่านั้นมีเวลาเหลือกี่ปี ซึ่งยังต้องดูอีกหลายอย่าง

“ปัจจุบัน มีท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการท่าเรือฯ น่าจะลองปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพ ให้เป็นท่าเรือท่องเที่ยวส่วนหนึ่งได้หรือไม่ หรือปรับปรุงเป็น Home Port (ท่าเรือหลัก) และอาจจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้ามา อีกทั้งท่าเรือกรุงเทพฯก็มีข้อจำกัดเรื่องของการไม่ใช่ท่าเรือน้ำลึก ดังนั้นการโยกย้ายบางส่วนไปอยู่ที่แหลมฉบังน่าจะเวิร์คกว่า” รมช.คมนาคมกล่าว

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผอ.กทท.กล่าวว่า กทท.มีแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งจะนำไปหารือรายละเอียดกับฝ่ายนโยบาย

สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ จะมีการปรับปรุงพื้นที่ในส่วนท่าเรือที่ลดลง โดยนำเทคโนโลยีมาให้บริการและมุ่งเป็นท่าเรือ Green Port ปรับปรุงพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย เป็นแนวสูง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่และพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว รวมถึงมีศูนย์ให้บริการขนส่งโลจิสติกส์ครบวงจร เป็นการเชื่อมโยงการขนส่งครบวงจร


กำลังโหลดความคิดเห็น