“มนพร”เปิดใช้ท่าเรือท่าเตียน โฉมใหม่ ชูไฮไลต์วัดอรุณฯ วิวเช็คอินสุดสวย พร้อมเร่งปรับปรุง 29 ท่าเรือ เจ้าพระยาเสร็จในปี 69 ดันระบบตั๋วร่วมเชื่อมราง-เรือ-รถ เตรียมนำร่องหาเอกชนร่วม PPP พัฒนาเชิงพาณิชย์ ท่าเรือระบบปิด
วันที่ 5 เม.ย. 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานในพิธีเปิดใช้ท่าเรือท่าเตียนว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินภารกิจเพื่อพัฒนาท่าเรือตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย สวยงาม สนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามนโยบาย "คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน" และ"ราชรถยิ้ม" สร้างการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม "ล้อ ราง เรือ" อย่างไร้รอยต่อ โดยท่าเรือท่าเตียน มีการออกแบบสวยงาม สถาปัตยกรรมศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก และเหมาะสมกลมกลืนกับอาคารในพื้นที่โดยรอบ มีมีสิ่งอำนวยความสะดวก และอาคารพักผู้โดยสาร 2 หลังแยกรองรับเรือโดยสารและเรือข้ามฟาก ทำให้ไม่แออัดและปลอดภัย และทางลาด ทำให้ผู้สูงอายุ และคนพิการ สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก และมีห้องควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยที่เชื่อมข้อมูลกับส่วนกลาง
โดยท่าเรือท่าเตียนมีผู้ใช้บริการประมาณ 3,500-4,000 คน/วัน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว ยุโรปประมาณ 85% นักท่องเที่ยวจีน 15% และคนไทย 5% โดยถือเป็นจุดเช็คอินท่องเที่ยวที่สำคัญ มีไฮไลต์คือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และใกลักับวัดโพธิ์ และมีรถไฟฟ้า MRT สามารถเดินทางเชื่อมต่อรถ ราง เรือ ได้สะดวก ซึ่งกระทรวงวคมนาคมกำลังผลักดันพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีผลบังคับใช้ก็จะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อไร้รอยต่อและเกิดประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่าย
โดยตามแผนกรมเจ้าท่า จะดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ 29 แห่ง ที่ผ่านมาเสร็จแล้ว 10 ท่า ที่เหลือ จะดำเนินการปรับปรุงในปี 68-69 ให้ครบ เพื่อรองรับการบริการทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้พิการได้อย่างเท่าเทียม โดยเป็นท่าเรือที่มีความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รองรับการเดินทางสัญจรทางน้ำ เชื่อมโยงระบบการขนส่งทั้งทางบกและทางราง
@ ชง คจร.เห็นชอบดึงเอกชนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ อัพเกรดท่าเรือระบบปิด
นางมนพรกล่าวว่า หลังจากปรับปรุงท่าเรือใหม่แล้ว จะปรับการบริหารจัดการเป็นท่าเรือระบบปิดเพื่อควบคุมด้านความปลอดภัยและความสะอาด โดยจะเปิด PPP ให้เอกชนเข้ามาพัฒนาเชิงพาณิชย์ สัดส่วนพื้นที่ประมาณ 30% เพื่อหารายได้มาดูแลบริหารจัดการท่าเรือ บริหารจัดการตั๋ว ดูแลความปลอดภัย ความสะอาด ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ศึกษาแผนแม่บท และเสนอกระทรวงคมนาคมแล้ว อยู่ในระหว่างเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาเห็นชอบ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการ เพื่อปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์จากท่าเรือสาธารณะให้สามารถบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย
“เบื้องต้นจะพิจารณาท่าเรือที่มีศักยภาพพัฒนานำร่อง เช่น ท่าเรือสาทร ท่าช้างท่าเตียน ท่านนทบุรี ท่าบางโพ ซึ่งเป็นการวางแนวทางการพัฒนาในอนาคต และแก้ปัญหางบประมาณรัฐไม่เพียงพอในการบริหารจัดการและดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะเห็นท่าเรือเชิงพาณิชย์นำร่อง ในปี 2569”
โดยจะเป็นการจัดสรรพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อให้เอกชนเข้าไปบริหารดำเนินการพัฒนาดูแลปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ความสะอาด เช่น ร้านค้า ห้องน้ำ เป็นต้น และเก็บค่าตอบแทนมาใช้จ่ายได้ โดยแบ่งพื้นที่ ใช้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์สัดส่วน 30% ที่เหลือยังคงพื้นที่สาธารณะ 70% โดยรายได้จะนำส่งกรมธนารักษ์ ส่วนกรมเจ้าท่ามีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารจัดการ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร
“ท่าเรือที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์จะต้องมีจำนวนผู้โดยสารมากในระดับหนึ่ง ซึ่งมีสถิติจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละท่า คาดระยะแรก (เฟสแรก) ประมาณ 5 ท่า เช่น ท่าสาทร ท่าช้าง ท่านนทบุรี ท่าพรานนก เป็นต้น”
สำหรับการปรับปรุงท่าเรือท่าเตียน กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร ใช้งบประมาณ 39.047 ล้านบาท ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ศิลปะแบบโรมันผสมคลาสสิก โดยการตกแต่งปูนปั้นเหนือช่องหน้าต่างพร้อมบานหน้าต่างที่ใช้ลูกฝักเพื่อตบแต่ง พร้อมสีตัวอาคารที่ยึดตามหลักสถาปัตยกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเก่า มีอาคารพักผู้โดยสาร 2 หลัง โป๊ะเทียบเรือ 6 x 12 เมตร 4 ลูก สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ได้แก่ ป้ายบอกเส้นทางเดินเรือ ระบบเสียง กล้องวงจรปิด ทางลาดผู้พิการ โป๊ะเทียบเรือสามารถรองรับเรือต่าง ๆ อาทิ เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) เรือทัวร์ และเรือทั่วไป
ส่วนความคืบหน้าแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ 29 ท่า นั้น ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 9 ท่า ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพายัพ ท่าบางโพ ท่าช้าง ท่าราชินี ท่าสาทร และเพิ่มเปิดล่าสุด คือท่าเตียน
อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง จำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2567 , ท่าเรือพระราม 5 ผลงาน 45 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2567, ท่าเรือปากเกร็ด ผลงาน 20 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2567 , ท่าพระราม 7 ผลงาน 42 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2567
และท่าเกียกกาย ผลงาน 24 % คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567 แต่เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกัน จึงมอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการต่อ
@ ปี 68-69 ตั้งงบ 350ล.ปรับปรุง อีก 15 ท่าเรือ
ส่วน ปี 2568 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล ท่าเทเวศร์ ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา งบประมาณ 169.4 ล้านบาท และ ปี 2569 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์ ท่าวัดเทพากร ท่าพิบูลสงคราม 2 ท่าวัดเทพนารี ท่าวัดตึก ท่ารถไฟ ท่าพิบูลสงคราม ท่าสี่พระยา ท่าวัดเขมา ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง งบประมาณรวม 180.9 ล้านบาท และติดตั้งอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) งบประมาณ 170.5 ล้านบาท เช่นระบบควบคุมจราจรทางน้ำ ระบบบริหารจัดการข้อมูล AI ระบบตั๋วและเครื่องตรวจสัมภาระ ระบบวงจรปิด CCTV เป็นต้น