xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์” สั่ง รฟท.ปรับสเปกจัดหารถใหม่ มุ่ง EV หรือไฮบริด เบรกซ่อมใหญ่รถจักรอายุเกิน 30 ปีหวั่นไม่คุ้มเทียบซื้อใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุรพงษ์” สั่ง รฟท.ปรับสเปกจัดหารถจักรล้อเลื่อน มุ่งไฟฟ้าหรือไฮบริดลดโลกร้อน ชี้ยังมีเวลาประเมินและพิจารณา หวังมีรถใหม่พร้อมกับทางคู่เสร็จสมบูรณ์ช่วงปี 70-71 ปัจจุบันใช้ AI ผลิตเร็วไม่ถึง 2 ปี พร้อมเบรกซ่อมใหญ่รถจักรอายุเกิน 30 ปี สั่งประเมินความคุ้มค่าเปรียบเทียบกับซื้อใหม่

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า มีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ คือ การจัดหารถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 946 คัน อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)​ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ บริการเชิงพาณิชย์ พร้อมอะไหล่ จำนวน 184 คัน อยู่ในขั้นตอนเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาอนุมัติ จากนั้น รฟท.จะเสนอมาที่กระทรวงคมนาคมตามขั้นตอน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ภาพรวมของแผนจัดหารถจักรล้อเลื่อน รถสินค้าต่างๆ ของรฟท.นั้น ขณะนี้ต้องมีการพิจารณาแผนงานเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้พลังงานเพื่อให้เป็นไปตามภาวะในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญเรื่องลดโลกร้อน ขณะที่แผนการจัดหารถจักร ล้อเลื่อนของ รฟท.มีการกำหนดไว้นานแล้ว สเปกส่วนใหญ่จะเป็นระบบเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ตอนนี้ก็ต้องมาพิจารณาปรับเปลี่ยนเรื่องเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น อาจจะเป็นไฮบริด หรือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญร่วมกันศึกษาพิจารณาให้มีความเหมาะสมที่สุด

“นโยบายต้องการให้ระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ และกรุงเทพชั้นในเป็นพื้นที่กรีน ซึ่งรถเมล์ ขสมก.มุ่งหน้าเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ต่อไปก็จะกำหนดรถแท็กซี่ รถขนส่งอื่นๆ จะต้องใช้รถยนต์สันดาปน้อยที่สุด ส่วนรถไฟนั้น จะมีการกำหนดรัศมีพื้นที่รอบกรุงเทพฯ  ที่ต้องใช้รถไฟพลังงานไฟฟ้า หรือรถไฟไฮบริดขับเคลื่อนเข้ามาเพื่อลดมลพิษทางอากาศในเขตเมืองให้มากที่สุด”

นอกจากนี้ รฟท.จะต้องวางแผนระยะเวลาจัดหารถจักร ล้อเลื่อนให้สอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่จะทยอยแล้วเสร็จ เพราะหากเร่งซื้อรถเข้ามาแต่ทางคู่ยังไม่เสร็จรถก็มาจอดรอ ไม่มีรายได้ ไม่มีการใช้งานที่คุ้มค่า ซึ่งแผนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก และระยะที่ 2 ส่วนใหญ่จะทยอยแล้วเสร็จในปี 2570-2571 ดังนั้น ก่อนทางคู่จะเสร็จสมบูรณ์ก็ควรจะเริ่มมีรถใหม่เข้ามา ประมาณช่วงปี 2570 เพื่อให้มีเวลาในการทดลอง และการเชื่อมกับระบบอาณํติสัญญาณต่างๆ ด้วย จะเป็นการจัดหาในเวลาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เสียโอกาสและคุ้มค่าด้วย 


@เบรกซ่อมใหญ่รถจักรอายุเกิน 30 ปี สั่งประเมินความคุ้มค่าเปรียบเทียบกับซื้อใหม่

ส่วนแผนการซ่อมปรับปรุงรถจักรเก่าที่มีอายุใช้งานเกิน 30 ปี ตอนนี้ให้พิจารณาประเมิน ให้ซ่อมปรับปรุงรถจักรที่มีสภาพพอใช้ได้ อายุยังไม่มากนัก หรือใช้งบซ่อมไม่สูงมาก ส่วนรถจักรที่ซ่อมแล้วไม่คุ้ม หรือมีค่าซ่อมแพงกว่าซื้อใหม่ ก็ควรปรับแผนไปจัดหาใหม่มาทดแทนเพราะจะคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่ยังรอทางคู่เสร็จ ยังมีเวลาในการพิจารณา และปัจจุบันเทคโลยีการผลิตใช้ AI มาช่วย มีการกระจายการผลิตไปทั่วโลก แล้วนำชิ้นส่วนมาประกอบกัน ดังนั้น การผลิตรถไฟในขณะนี้ใช้เวลาน้อยลง ไม่ถึง 2 ปี เหมือนในอดีต

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ล่าสุด รฟท.ปรับปรุงแผนธุรกิจดีขึ้น แต่การขนส่งโดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันยังไม่สร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวมาช่วยด้วย ซึ่งนโยบายวีซ่าฟรี ทำให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้ระบบรางด้วย ส่วนการขนส่งสินค้านั้นนโยบายต้องการชิฟต์โหมดการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักจากถนนขึ้นรางให้มากที่สุดเพราะต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งเมื่อเป็นระบบรถไฟทางคู่การเดินรถใช้เวลาน้อยลงและตรงเวลา กำหนดเวลาได้ชัดเจน ขนส่งต่างๆ จะกำหนดเวลาเพื่อไปส่งลงเรือได้สะดวก ตรงเวลา ไม่ต้องขนส่งทางรถบรรทุกเพื่อไปรอลงเรือ ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ไม่มีรถจักร ไม่มีแคร่สินค้า แต่ปัญหาอยู่ที่รถไฟส่วนใหญ่ยังเป็นทางเดี่ยว ทำให้ผู้ขนส่งยังไม่นิยมเพราะยังกำหนดเวลาในการขนส่งไม่ได้แน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงต้นปี 2566 รฟท.ได้เปิดประมูลโครงการจ้างซ่อมปรับปรุงรถจักร HID (HITACHI 8FA-36C) จำนวน 21 คัน อายุใช้งาน 30 ปี มีราคากลาง 777 ล้านบาท แต่ไม่มีเอกชนยื่นประมูล และยังเตรียมประมูล โครงการจ้างซ่อมปรับปรุงรถ DAWOO จำนวน 39 คัน อายุใช้งานเฉลี่ย 25 ปี ราคากลาง 975 ล้านบาทอีกด้วย


@เปิดแผนจัดหารถจักร ล้อเลื่อน 14 โครงการภายใน 10 ปี

สำหรับแผนจัดหารถจักรล้อเลื่อน (รถโดยสารและรถสินค้า)​ ของ รฟท.มี 14 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการช่วง10 ปี ได้แก่ 1. จัดหารถสินค้าบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านล้านบาท 2. จัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ บริการเชิงพาณิชย์ พร้อมอะไหล่ จำนวน 184 คัน วงเงิน 23,270 ล้านบาท 3. จัดหารถสับเปลี่ยน พร้อมอะไหล่ จำนวน 17 คัน วงเงิน 1,989 ล้านบาท 4. จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ จำนวน 113 คัน วงเงิน 22,035 ล้านบาท 5. จัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ จำนวน 60 คัน วงเงิน 11,700 ล้านบาท 6. จัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ บริการเชิงสังคม พร้อมอะไหล่ จำนวน 216 คัน วงเงิน 27,317 ล้านบาท 7. จัดหารถดีเซลรางเชิงสังคม รองรับทางคู่และทางสายใหม่ พร้อมอะไหล่ จำนวน 332 คัน วงเงิน 41,987 ล้านบาท

8. จัดหารถดีเซลรางเชิงพาณิชย์ รองรับทางคู่และทางสายใหม่ พร้อมอะไหล่ จำนวน 188 คัน วงเงิน 23,776 ล้านบาท 9. จัดหารถโดยสารชุด พร้อมอะไหล่ จำนวน 182 คัน วงเงิน10,892 ล้านบาท 10. จัดหารถโดยสารชุดสำหรับทางสายใหม่ จำนวน 273 คัน วงเงิน 15,560 ล้านบาท 11. จัดหารถโดยสารชุดจำนวน 273 คัน ทดแทนรถเร็ว วงเงิน 15,560 ล้านบาท 12. จัดหารถบรรทุกตู้สินค้า เพิ่มการขนส่ง (บริการสินค้า) จำนวน 990 คัน วงเงิน 2,574 ล้านบาท 13. จัดหารถบรรทุกตู้สินค้า เพิ่มการขนส่ง (บริการสินค้า) จำนวน 957 คัน วงเงิน 2,489 ล้านบาท 14. จัดหารถตู้สินค้า บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 1,155 คัน วงเงิน 3,003 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น