ผู้ถือหุ้น ปตท.สผ.อนุมัติจ่ายเงินปันผลครึ่งหลังปี 66 ที่ 5.25 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายในวันที่ 22 เม.ย.นี้ พร้อมเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการโมซัมบิกเพื่อผลิต LNG ในปี 71 ยันความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลางไม่กระทบการลงทุน ลั่นปีนี้รักษาต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ 28-29 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ ยังเห็นชอบผลการดำเนินงานจากปี 2566 และมีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 9.50 บาท ซึ่ง ปตท.สผ.ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ในอัตราหุ้นละ 4.25 บาท โดยจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลือของปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 5.25 บาทในวันที่ 22 เมษายน 2567
ปี 2567 บริษัทเน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ 28-29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยตั้งเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมปีนี้โตขึ้นประมาณร้อยละ 9 มาอยู่ที่อัตรา 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ปตท.สผ.คงโฟกัสการลงทุนใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ประเทศไทย ได้มุ่งเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ สำหรับโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล และฟูนาน) ให้มีกำลังการผลิตแตะ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่ง ปตท.สผ.สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2567 เป็นต้นมา และยังต้องรักษาอัตราการผลิตให้ต่อเนื่องอีก 90 วัน
อีกทั้งเร่งรัดการผลิตจากโครงการอื่นๆ เช่น โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทรกต์ 4 ให้เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนมีการนำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่มากขึ้น
ส่วนประเทศเมียนมา ปตท.สผ.ยังมุ่งมั่นรักษากำลังการผลิตในแหล่งซอติกา และแหล่งยาดานา เพื่อให้เกิดการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาเลเซีย ก็มีแผนจะเร่งพัฒนาโครงการเพื่อให้ได้กำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น และโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ก็เตรียมกลับเข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในช่วงต้นปี 2567 เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้ในช่วงปี 2571 โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีสัญญาซื้อขาย LNG ราว 13 ล้านตัน
สำหรับผลประกอบการ ปตท.สผ.ในปี 2566 มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท (เทียบเท่า 9,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 462,007 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงประมาณร้อยละ 10 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลง เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) เป็นต้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 76,706 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.18 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 70,901 ล้านบาท