กพท.ลงพื้นที่”อู่ตะเภา”พัฒนารับการบินอนาคต ไทยมี 200 ล้านคน/ปี ยันเดินหน้าเมืองการบิน แม้ไฮสปีด 3 สนามบินล่าช้า ด้านกองทัพเรือ เผยผู้โดยสารฟื้นเป้าปีนี้แตะ 6 แสนคน อัดโปรลดค่าแลนด์ดิ้ง 50% กระตุ้นตลาด 17 มิ.ย. 2567 “แอร์เอเชียเอ็กซ์”เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์บินตรง'กัวลาลัมเปอร์'
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เป็นประธานเปิดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “เช็กความพร้อมอุตสาหกรรมการบิน รองรับการบินใหม่ในอนาคต” และร่วมแถลงข่าวการเตรียมแผนพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา ความคืบหน้าการก่อสร้างรันเวย์ การเตรียมความพร้อม aviation hub ตอบรับนโยบายนายกฯ รวมทั้งแผนพัฒนาพื้นที่สนามบินเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง โดยมี นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา และนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาให้เป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3” และเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศ” และพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่โครงการก่อสร้างเมืองการบิน ณ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท.เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสนามบินสาธารณะ จำนวน 39 แห่ง ในจำนวนดังกล่าว มีสนามบินที่เปิดให้บริการระหว่างประเทศ จำนวน 10 แห่ง ซึ่ง กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานสนามบินสาธารณะของไทย จึงให้ความสำคัญกับการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะสำหรับสนามบินที่ให้บริการระหว่างประเทศ (International airport) เป็นลำดับแรก ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการตรวจสอบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) โดยในปัจจุบันมีสนามบินที่ถือใบรับรองฯ จำนวน 9 แห่ง โดย 8 แห่งเป็นสนามบินที่เปิดให้บริการระหว่างประเทศ
สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา เป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ ความยาวทางวิ่ง 3,505 เมตร สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ได้ทั้ง B777 , B787 , A330 รวมถึง Antonov โดยท่าอากาศยานได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และดำเนินการตามกระบวนการจนได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ได้ให้บริการทั้งการบินภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ที่เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้ง 3 ท่าอากาศยานสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อสนามบินได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะแล้ว กพท. จะมีการตรวจติดตามมาตรฐานสนามบินเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สนามบินยังคงได้มาตรฐานในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับการดำเนินงานประกอบใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาได้รับใบรับรองฯ เมื่อปี 2565 กพท. ก็ได้ดำเนินการตรวจติดตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ติดตามมาตรฐาน ด้านแผนฉุกเฉินและดับเพลิงกู้ภัย ด้านการดำเนินงานในเขตการบิน และการจัดการด้านนิรภัยของสนามบิน เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 และ ติดตามมาตรฐาน ด้านแผนฉุกเฉินและดับเพลิงกู้ภัย ด้านกายภาพสนามบิน และด้านเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ประเภททัศนวิสัย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566
@ประเมินอีก 10 ปี ไทยมี 2 ล้านเที่ยวบินขึ้นอันดับ 9 ของโลก
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ปริมาณเที่ยวบินมีสถิติสูงสุดเมื่อปี 2562 ที่ 1.07 ล้านเที่ยวบิน ซึ่งขณะนั้นถือว่า การให้บนิการมีความหนาแน่นมาก และ มีการคาดการณ์ว่า อีก 10 ปี จะมี 2 ล้านเที่ยวบิน และไทยจะมีปริมาณเที่ยวบินเป็นอันดับ 9 ของโลก จึงต้องคิดว่าจะรองรับเที่ยวบินเพิ่มอีก 2 เท่า อย่างไร ทั้งในส่วนของสนามบินและเส้นทางบิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งวางแผนเพิ่มขีดความสามารถรองรับ ส่วนการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เมืองการบินอู่ตะเภาเมืองการบิน หากเอกชนไม่เห็นโอกาส ก็คงไม่เข้าร่วมประมูล
@ยันเดินหน้าอู่ตะเภา เมืองการบิน แม้ไฮสปีดเชื่อม3 สนามบินจะล่าช้า
ส่วนปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของอู่ตะเภาเมืองการบินเชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องกำลังช่วยแก้ปัญหา ทั้งนี้แม้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะล่าช้าไปบ้าง แต่หากแยกเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้นไม่ได้มีผลกระทบในการก่อสร้างให้เสร็จตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามการมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินดีกว่าการไม่มี เพราะจะส่งผลดีต่อสนามบินทั้ง 3 แห่ง
ตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป้าหมายจะทำให้มีศักยภาพไม่น้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน แนวโน้มการเติบโตการบินของไทยสูงมาก ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีสนามบินขนาดใหญ่ ซึ่งอู่ตะเภาเป็นคำตอบ และจะทำให้มั่นใจว่า ประเมศไทยมีความสามารถที่จะรองรับตลาดการบินที่เพิ่มขึ้นได้และช่วยทำให้เกิดความคล่องตัวในระบบการบิน การจัดการห้วงอากาศ ของที่สุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วย
“สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินกำหนดเปิดใช้งานปี2571 แต่จะช้าไปอีกแค่ไหนภายในปี2567 ไม่เกินต้นปี2568 น่าจะเห็นความชัดเจน”
อย่างไรก็ตามปริมาณเที่ยวบินจากจีนที่เคยเป็นตลาดใหญ่สุดยังไม่กลับมา รัสเซีย กลับมาบ้างแต่ยังไม่เท่าเดิม แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้แน่นอน
@อู่ตะเภา คาดปีนี้ผู้โดยสาร แตะ 6 แสนคน
นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา-ระยอง-พัทยา มีความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 3 ล้านคน รองรับเที่ยวบินได้ 17 เที่ยวบิน/ชั่วโมง โดยมี 52 หลุมจอด ช่วงปี2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มี ผู้โดยสารรวม1.63 ล้านคน มีผู้โดยสารหลักจากรัสเซีย 1 ล้านคน และที่เหลือเป็นจีนและอื่นๆ ปี 2563 ผู้โดยสารลดลงเหลือ 5.64 แสนคน ปี 2564 มีผู้โดยสารเพียง 4.17 หมื่นคน ปี 2565 มีผู้โดยสาร 1.06 แสนคน สถานการณ์โควิดคลี่คลาย การบินเริ่มกลับมา ในปี 2566 มีผู้โดยสาร4.44 แสนคน และปี 2567 ช่วง 6 เดือน ในรอบตารางบินฤดูหนาวที่ผ่านมา มีผู้โดยสารแล้ว 2.8 แสนคน และคาดการณ์ทั้งปี จะมีผู้โดยสารจำนวน 6 แสนคน
ที่ผ่านมากองทัพเรือในฐานะผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา ได้พัฒนาปรับปรุงมาตรฐานการให้บนิการและความปลอดภัยตลอดจนทำการตลาดเพื่อดึงสายการบินเข้ามาให้บริการ โดยปัจจุบันมีสายการบินภายในประเทศให้บริการ 2 สายการคือ บางกอกแอร์เวย์ส ให้บริการเส้นทาง อู่ตะเภา-สมุย และเส้นทางอู่ตะเภา-ภูเก็ตจำนวน 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์(ทุกวัน) และสายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ ให้บริการเส้นทาง อู่ตะเภา-เชียงใหม่ จำนวน 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ( อังคาร,พฤหัส,อาทิตย์)
ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ แบบประจำ มี สายการบิน ฟลายดูไบ ( Flydubai ) เปิดเส้นทางบินตรง อู่ตะเภา- ดูไบ (ทุกวัน) และแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) มีสายการบินอาซั่วแอร์ จากรัสเซีย
@“แอร์เอเชียเอ็กซ์”เปิดไฟลท์ปฐมฤกษ์”อู่ตะเภา-กัวลาลัมเปอร์ “17 มิ.ย. 2567
และมีการทำการตลาดเจรจากับสายการบินต่างๆ ล่าสุด สายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ ประเทศมาเลเซีย ตกลงจะเปิดให้บริการเส้นทาง อู่ตะเภา-กัวลาลัมเปอร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์วันที่ 17 มิ.ย. 2567 จำนวน 3 วัน/สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับสายการบินฮ่องกงเอ็กซ์เพรส เพื่อทำตารางการบินมายังอู่ตะเภาในช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้ ทั้งนี้ยังมีการจัดทำโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบิน ( Incentive) ต่างๆ เพื่อจูงใจสายการบิน เช่น ลดค่าได้รับส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลง (Landing Fee) 50% ลดค่าบริการผู้โดยสารขาออก หรือ PSC ระหว่างประเทศ 50% จากอัตราปกติ 400 บาท ตามประกาศ ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และฟรีสำหรับผู้โดยสารคนที่ 100,001 เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเพิ่มบรืการและอำนวยความสะดวกสำหรับระบบขนส่งสาธารณะต่อเชื่อมจากสนามบินอู่ตะเภา เช่น แท็กซี่อู่ตะเภา-พัทยา อู่ตะเภา-ระยอง จัดรถมินิบัศเส้นทางอู่ตะเภา-ตราด ,อู่ตะเภา-ชลบุรี ,อุ่ตะเภา-ระยอง และ อยู่ระหว่างประสานกรมการขนส่งทางบกเพื่อจัดบริการรถสองแถวเพิ่มเติมไปยังสัตหีบ เป็นต้น