xs
xsm
sm
md
lg

อำเภอแหลมสิงห์ใช้แนวทาง SEDZ พลิกฟื้นบ่อกุ้งร้างส่งเสริมอาชีพ-ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อำเภอแหลมสิงห์ใช้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ดึงสมาชิก 408 ครัวเรือนพลิกฟื้นบ่อกุ้งร้างสร้างอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ พัฒนาท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า
ได้ร่วมมือกับนายอำเภอแหลมสิงห์เข้าไปแก้ปัญหาสภาพพื้นที่โดยทั่วไปของอำเภอแหลมสิงห์ที่เป็นบ่อกุ้งร้าง ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ทำกินได้ และเข้าไปพัฒนาพื้นที่ไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารสิทธิและด้านกฎหมายทับซ้อนกับพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานไม่สามารถแก้ไขได้ โดยร่วมกับสำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จ.ระยอง ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น มีสมาชิก 408 ครัวเรือน นำที่ดินเข้าโครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยใช้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ : Sufficiency Economy Development Zones ) การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยว กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

น.ส.รัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ จะนำพื้นที่บ่อกุ้งร้างมาปรับปรุงทำคันดินเพื่อให้เลี้ยงสัตว์น้ำได้ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จ.จันทบุรี ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำข้อตกลงความร่วมมือเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยมีการทอดผ้าป่าระดมทุนซื้อรถแบ็กโฮมาเป็นของกลุ่มฯ ภายใต้ศูนย์รวมจิตใจของพระปลัดสาธิต สุจิณโณ ซึ่งชาวบ้านจะจัดคิวหมุนเวียนนำรถไปปรับพื้นที่ทำคันดินบ่อกุ้ง ส่วนค่าแรงคนขับและค่าน้ำมันชาวบ้านเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการปักหมุดพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้รุกพื้นที่ป่าเพิ่ม ขณะที่กรมประมงนำสัตว์น้ำมาปล่อยเพิ่มทั้งพันธุ์กุ้ง ปลา ปู เพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชน

“การทำนากุ้งทำให้ที่ดินใน ต.บางสระเก้าเสียหาย จากนาข้าวมาเป็นนากุ้งทำน้ำยกตัว ดินไหลลงคลอง ใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่ได้มา 10 ปี ปัจจุบันได้จัดกระบวนการใหม่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) แบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 400 ไร่ เพื่อสร้างออกซิเจน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และกันเป็นพื้นที่ทำกินให้ครอบครัวละประมาณ 1-2 ไร่เพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ” พระปลัดสาธิต สุจิณโณ กล่าว


นายธาวิต สุขสิงห์ ประธานวิสาหกิจชุมชน ต.บางสระเก้า กล่าวว่า ทางกลุ่มได้วางแผนพัฒนาบ่อกุ้งร้าง 200 กว่าแห่งที่เป็นชายน้ำเค็ม พัฒนาแบบโคก หนอง นาโมเดล แต่จะเป็นโคก หนอง นาน้ำเค็ม เน้นเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู ปลา แบบปลอดสารพิษ เช่น 1 บ่อปล่อยปู 500 ตัว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้วันละ 1000 บาท และอนาคตกลุ่มจะเป็นตัวกลางรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งขายตามโฮมสเตย์ ซึ่งในพื้นที่ อ.แหลมสิงห์มีโฮมเสตย์กว่า 30 แห่ง และจะมีการหักเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนในการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำต่อไป

อย่างไรก็ตาม อำเภอแหลมสิงห์มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน ”โฮมสเตย์ กินปู ดูเหยี่ยว” ในรูปแบบปุฟเฟต์อาหารทะเลเติมได้ไม่อั้น ซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น