ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอชี้แจงผลงานด้านการลงทุน 6 เดือนของรัฐบาล เอกชนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2566 กว่า 8.5 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 9 ปี เดินหน้าดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ Cloud Service และสำนักงานภูมิภาค พร้อมผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างประโยชน์ให้คนไทย
หม่อมหลวง ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมคณะได้เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวน 14 ประเทศ พบปะหารือกับบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกกว่า 60 แห่ง พร้อมชักชวนการลงทุน และกระชับความร่วมมือกับประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี
มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มูลค่า FDI ขยายตัวกว่า 145% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้กำหนดยุทธศาสตร์เน้นหนักในการดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ Data Center และ Cloud Service รวมถึงกิจการสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า “รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในภูมิภาค จึงมีการออกมาตรการต่อเนื่องดึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตไฟฟ้าในไทย และสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV เพราะอุตฯ นี้เป็นอนาคตสำคัญของโลก ซึ่งไทยต้องปรับอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่ EV จึงดำเนินมาตรการ ทั้งดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาลงทุน และหนุนผู้ผลิตรายเดิมให้ปรับตัวได้
“ผลดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตจากจีนระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และปีที่แล้วที่กรุงโตเกียว 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำมีแผนการขยายการลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจะปรับตัวจาก ICE ไป EV และรัฐยังเจรจากับผู้ผลิต EV รายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐกำลังเจรจากับผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ชั้นนำของโลก คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อย่างน้อย 2 รายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย” นายนฤตม์กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศ ด้วยการดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่น การผลิตชิปต้นน้ำ การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับจ้างผลิตและทดสอบชิปขั้นสูงเข้ามาลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทระดับโลกหลายราย
ในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะด้าน Data Center และ Cloud Services ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรม AI คาดว่าภายในปีนี้จะมีผู้ให้บริการระดับ Hyperscale เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องหลายแสนล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคได้
นอกจากนี้ยังมุ่งดึงดูดบริษัทชั้นนำให้ตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและศูนย์กลางการเงิน และโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีบริษัทใหญ่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5 ราย
“นายกฯ เศรษฐา และทีมรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยบีโอไอได้ประเมินเม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลักที่ได้กล่าวมา รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท” นายนฤตม์กล่าว