จับทิศคะแนนเสียงชิงดำประธานส.อ.ท.คนที่ 17 ระหว่าง “เกรียงไกร”-“สมโภชน์” พรุ่งนี้(25 มี.ค.) เสียงหนุน ”เกรียงไกร” มาแรง ขณะที่ “สมโภชน์”ลุยดึงเสียงจากต่างจังหวัดหวังพลิกคะแนนโค้งสุดท้าย ย้ำเตือนคนส.อ.ท. “พ.ร.บ.ส.อ.ท.”กำหนดไว้ต้องไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง
พรุ่งนี้(25 มี.ค.67 )การเลือกประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระหว่างนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานคนปัจจุบัน กำลังจะหมดวาระสมัยที่ 1 (วาระปี 2565-2567) ซึ่งเป็นวาระครั้งละ 2 ปีตามปีปฏิทินและยังคงเสนอตัวเป็นประธานส.อ.ท.อีก 1 สมัย(วาระปี 2567-2569 ) รวม 4 ปีหากมองในเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติส.อ.ท.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นสิทธิของ “นายเกรียงไกร” สมัยที่สอง แต่จู่ๆ ก็มีเซอร์ไพรส์!จากการเปิดตัวแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 67 เสนอตัวเข้าแข่งขันของ”นาย“สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และเป็นรองประธาน ส.อ.ท. ในปัจจุบันโดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ในฐานะประธานกิติมศักดิ์ส.อ.ท.เป็นผู้สนับสนุนอย่างเปิดเผย
อย่างไรก็ตามเก้าอี้นี้กลายเป็นประเด็นร้อนทันที! เมื่อมีเดิมพันถึง ผลประโยชน์จาก ‘โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต FTIX’ และ ‘มูลนิธิพลังงานสะอาด’ ที่กลุ่ม EA ของสมโภชน์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง จนเกิดการโต้กันไปมา และต้องตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อน และกรรมการส.อ.ท.ชุดของเกรียงไกร มีการตั้งกรรมการสอบอยู่ในปัจจุบัน ทำให้มีความพยายามใช้กำลังภายในและการเมืองในระดับจังหวัด ในการกดดันเพื่อให้ผลการเลือกตั้งเกิดการพลิกผัน หากนายสมโภชน์ ชนะได้เป็นประธาน ก็อาจจะมีผลต่อทิศทางการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ทั้งการตรวจสอบภายในของ ส.อ.ท.เอง และการสอบสวนของตำรวจไซเบอร์ ที่ประธาน ส.อ.ท. ไปแจ้งความกรณี มีไอ้โม่งเข้าไปลบข้อมูลในระบบของ แพลตฟอร์ม FTIX
เทียบฟอร์มการทำงาน-“เกรียงไกร”-สมโภชน์
แน่นอนว่า นายเกรียงไกร นั้นมีผลงานที่โดดเด่นและทำงานมาอย่างยาวนานกับส.อ.ท.นับ 10 กว่าปี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแผนสร้างความเป็นหนึ่ง นั่นก็คือ ONE FTI ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 4.0 วางนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เสนอนโยบายภาครัฐที่จะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เรียกว่าสื่อต่างๆให้ความสำคัญกับแนวนโยบายของส.อ.ท.ในการนำเสนอรัฐบาลกันอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
ขณะที่นายสมโภชน์เพิ่งเข้ามาทำงานส.อ.ท.ตั้งแต่ปี 2561 และไม่ได้ค่อยเข้ามาทำงานยังส.อ.ท.สักเท่าไหร่นัก โดยนายสมโภชน์ ผู้ท้าชิง บทบาทใน ส.อ.ท.เดิมเคยเป็นประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม (ส.อ.ท.), ประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. รวมไปถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และธุรกิจ EAงโดดเด่นด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานทดแทนและนวัตกรรมอนาคต อย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
จับคะแนนเสียงสนับสนุนโค้งสุดท้าย
แน่นอนว่าหากมองไปยังเสียงของทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมส.อ.ท. 46 กลุ่มส่วนใหญ่จะอยู่ในวาระ 4 ปีทำให้ยังคงเทคะแนนเสียงให้กับนายเกรียงไกร เพื่อให้เกิดการทำงานต่อเนื่องต่อไป รวมถึง การที่นายเกรียงไกร ดูแลสายงานส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งมีทั้งสมาชิกที่เป็นทุนท้องถิ่น และสมาชิกในที่อยู่ภายใต้ทุนใหญ่ที่เป็นระดับ ‘Big Firm’ และมีสมาชิกในเครือในจังหวัดต่าง ๆ ก็น่าจะสามารถรักษาฐานเสียงกรรมการจากการเลือกตั้งที่มาจากสมาชิกทั่วประเทศส่วนนี้ได้อีกส่วน
ขณะที่นายสมโภชน์น่าจะได้ในส่วนของกลุ่มทางด้านพลังงงานและกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง และจากการเดินสายไปหาเสียงในต่างจังหวัดต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาโอกาสที่สมโภชน์จะพลิกชนะ จึงต้องทำให้เสียงโหวตจากสมาชิกในต่างจังหวัดพลิกกลับมาเทคะแนนให้ ซึ่งมีกระแสข่าวลือว่ามีการขอแรงสนับสนุนจากพรรคการเมืองช่วยสนับสนุนในการดึงเสียงต่างจังหวัดด้วยเพราะผู้อยู่เบื้องหลังเคยเล่นการเมืองเช่นกันส่วนจะจริงหรือไม่คงต้องไปตรวจสอบกันเอาเอง
สุดท้ายนี้ก็คงจะต้องรอผลเลือกตั้งในวันที่ 25 มี.ค. นี้ซึ่งช่วงค่ำๆ ก็พอคงจะเห็นผลว่าคะแนนใครนำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือภายใต้พระราชบัญญัติส.อ.ท.นั้นได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ส.อ.ท.ต้องไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง นี่คือ จุดยืนที่คน “ส.อ.ท.”ควรจะคำนึงถึงให้มากสุด” และสุดท้ายหวังว่าส.อ.ท.จะมีเอกภาพต่อไปเพื่อเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือในฐานะ 1 ในสถาบันหลักเพื่อการขับเศรษฐกิจของประเทศ