เอกชนร้องหนักใบอนุญาต รง.4 กลับมาค้างเติ่งนับร้อยรายอีกแล้ว บางรายขอเป็นปียังไม่ได้ ชี้ตัวถ่วงลงทุนอย่างหนัก ด้าน “พิมพ์ภัทรา” เดือด ขัดกับนโยบายรัฐบาลในการดึงการลงทุน สั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งเคลียร์ภายใน 30 วัน หรือ 26 มี.ค. พร้อมให้กลับมารายงานวิธีแก้ปัญหาด่วน
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก กลับมาประสบปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทั้งในส่วนของผู้ประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า โดยการขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำ 100-200 ราย สร้างความเสียหายให้นักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุนเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ
“ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการขอใบอนุญาตรง.4 เป็นประเด็นร้อนที่นักลงทุนจากทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนในไทยร้องเรียนอย่างหนักว่าขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้าอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำไมปัญหากลับมาอีกแล้ว ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศเรื่องอำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่ใบ รง.4 กลับเป็นตัวถ่วงอย่างหนัก บางรายเอกสารครบถ้วน รอแค่เซ็นใบอนุญาตจากผู้บริหาร รอมาเป็นปีแล้ว แต่ทุกอย่างดูติดๆ ขัดๆ ล่าช้าไปหมด ไม่รู้ว่าติดปัญหาอะไรกันแน่” แหล่งข่าวกล่าว
รมว.อุตฯ เดือดสั่ง กรอ.แจ้ง 30 วันหรือ 26 มี.ค.นี้
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตลงทุนตนได้รับการร้องเรียนมาเช่นกัน ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้เรียกประชุมในวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมรวบรวมข้อมูลการขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมดว่าอยู่ในระบบนานเท่าไร สาเหตุของการตกค้าง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ใด โดยต้องกำหนดแนวทางในการจัดการคำขออนุญาตมาแจ้งตนใน 30 ว้นหรือการประชุมวันที่ 26 มี.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้นักลงทุนทุกรายที่ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว
จากการเข้าตรวจสอบ พบว่ายังตกค้างอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรมกว่า 100 เรื่อง ไม่สามารถออกให้แก่ภาคเอกชน อาจเกิดจากเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน การรอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เช่น การขออนุญาตโรงไฟฟ้า หรือโรงแปรรูปไม้ หรืออาจเกิดจากการทำงานที่เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นต้องเร่งเคลียร์ใบอนุญาตที่ค้างในระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าผู้ประกอบการลงทุนรายใดเอกสารไม่ครบ ก็ต้องเร่งแจ้งว่าขาดอะไร รายใดเอกสารถูกต้องครบแล้วก็ต้องเร่งให้ใบอนุญาตออกไป
“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายฝ่าย หลายโต๊ะ หลายคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ยอมไม่ได้ ต้องเร่งเคลียร์ เร่งอนุญาตให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการโดยเร็ว ต่อไปต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เป็นวันสตอปเซอร์วิสอย่างแท้จริง เพื่อลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต และให้ทุกคำขออยู่ภายในกรอบเวลาของคู่มือการให้บริการประชาชน” รมว.อุตฯ กล่าว