การตลาด - สายมูคือไทยแท้ เปิดใจรับแบบไร้ขีดจำกัด เห็นมาตั้งแต่รุ่นแม่สู่รุ่นเล็กหัวใจว้าวุ่น พบบูชากันหนักมากในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ ตั้งแต่ดาราจนถึงนักเรียนนักศึกษา เทรนด์การมูเตลูมีตั้งแต่การบูชาสู่สายแฟ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ก็มันทำแล้วอุ่นหัวใจ มาแรงจนขึ้นแท่นท็อป 3 ของเครื่องมือการทำตลาด และวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องมูคือเรื่องใหญ่ แต่ “มูต่างวัย ก็มองต่างมุม” ฟีเวอร์ขนาดนี้ “ฮาคูโฮโด” ไม่พลาดที่จะพาไปเจาะไลฟ์สไตล์ของแต่ละเจน ว่ามูแบบนี้ ..นี่แหละตัวฉัน หากจับทางได้ ก็ทำการตลาดได้สำเร็จ สาธุ
เรื่องการมูไว้ใจพี่ไทย เพราะมันอยู่ในสายเลือด แต่จริงๆ แล้วคำว่า "มู" หรือ "มูเตลู" ไม่ใช่คำไทย บาลี หรือสันสกฤต แต่กลับเป็นภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งจริงๆ ออกเสียงว่า อิลมูตาลูห์ (ilmu teluh) ซึ่งแปลว่า คาถา คนไทยรู้จักและนำมาใช้จากภาพยนตร์เก่ากว่า 25 ปีของทางอินโดนีเซีย ชื่อเรื่องว่า มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ จน "มูเตลู" หรือ "สายมู" กลายเป็นคำคุ้นหูของคนไทยอย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นคำแทนของผู้คนที่มีความเชื่อ เคารพ บูชา ด้านไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง เป็นต้น และแน่นอนว่าเรื่องการมูต้องยกให้พี่ไทย ชาติไหนก็สู้ไม่ได้ เรียกได้ว่าประเทศไทยกลายเป็นเดสติเนชันแห่งการมูของโลก
นอกจากไทยที่เห็นภาพชัดเจนของการมูแล้ว หลายๆ ประเทศในเอเชียก็มีการมูเช่นกัน รวมไปถึงฝั่งยุโรปเองก็มีเรื่องของการมูด้วย แต่จะเน้นไปเรื่องของการสวดมนต์ขอพร แตกต่างไปตามวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ แต่ไม่หนักเท่าพี่ไทยเรา ขนาดพี่ใหญ่อย่างจีน และอินเดีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องของความเชื่ออย่างไทย ยังต้องบินมาศึกษาดูงานและมามูขอพรกันที่ไทย อย่างจีน ที่ต้องมาสักการะ “พระพรหมเอราวัณ” หรือศาลท้าวมหาพรหม ที่แยกราชประสงค์ เอ็กซ์คลูซีฟกว่านี้ก็มาขอลูก ขอลาภ หาเช่าบูชา ไอ้ไข่ ท้าวเวสสุวรรณ ไปจนถึงพระเครื่องชื่อดังก็รู้จักเป็นอย่างดี
แต่พี่ไทยเราล้ำกว่านั้น การมูของคนไทยมีความว้าวและสร้างสรรค์ ชาวต่างชาติที่ได้รับรู้ต่างพากันมองเป็นเรื่องที่ดี น่ารัก สมเป็นคนไทย แลนด์ออฟสมายล์ ชาติไหนจะมีสีประจำวัน สีเสื้อมงคลประจำวัน และสวัสดีวันจันทร์แสดงว่าเป็นคนไทยแน่นอน
นางสาวพร้อมพร สุภัทรวณิช รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) โดย บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ในยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมูเตลูถือเป็นหนึ่งในเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญของคนไทย จึงทำให้สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) โดย บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นสถาบันวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับ "การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย" เห็นความน่าจะเป็นที่น่าสนใจทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับการมูเตลูของคนไทย จึงทำให้เกิดผลสำรวจที่น่าสนใจ ที่ทางสถาบันนำมาเปิดเผยในหัวข้อ“ MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม”
นายกรรณ ทองศรี ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวถึง การศึกษา ในหัวข้อ “MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม” ว่า เป็นการสำรวจจากคนไทยทั่วประเทศเข้าร่วมทำแบบทดสอบทั้งหญิงและชายกว่า 1,200 คน ที่มีอายุ 20-59 ปี ซึ่งพบว่าคนไทย 88% เชื่อเรื่องการมู และที่เหลือ 12% เชื่อมั่นในตัวเอง และยังพบว่าคนไทย 65% มูให้ตัวเอง และ 88% มูให้คู่ชีวิตและครอบครัว
เมื่อเจาะลึกลงไป จะพบว่าสายมูมีความต้องการใน 7 เรื่อง ดังนี้ 1. การเงิน 44%, 2. โชคลาภ 17%, 3. สุขภาพ 12%, 4. การงาน 8%, 5. การเรียน 3%, 6. ความรัก 3%, 7. อื่นๆ 1% และ 8. ไม่เชื่อ 12%
นอกจากนี้ การมูยังเป็นเรื่องของที่พึ่งใจ ประกอบด้วย 1. ยึดเหนี่ยวจิตใจ 52%, 2. เสริมความมั่นใจ 21%, 3. เป็นผู้บันดาลสิ่งที่ต้องการ 13%, 4. เป็นผู้รับฟัง 6%, 5. เป็นผู้ชี้ทาง/ชี้แนะ 4%, 6. อื่นๆ 3%, 7. ไม่มีความเห็น/ไม่เชื่อเรื่องมูเตลู 2%
ที่ขาดไม่ได้คือ เทรนด์การมูในปี 2024 นี้ ทุกช่วงอายุจะมูในเรื่อง “สุขภาพคือความมั่งคั่ง” เน้นขอเรื่องสุขภาพ เพิ่มความมั่นใจว่าชีวิตไม่สะดุด เพื่อลุยงาน และเอนจอยชีวิตโค้งสุดท้าย
“คนไทยโดยทั่วไปมูเตลูเน้นเรื่องเงินและโชคลาภมากที่สุด จากคำตอบของผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบกว่า 1,200 คนทั่วประเทศไทย กว่า 88% ของผู้เข้าร่วมทั้งหมดให้คำตอบว่าเชื่อเรื่องการมู และกว่า 52% ของคนไทยให้นิยามการมูเตลูว่าเป็น ‘เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ’ การมูเตลูนั้นถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล โดยคนไทยมักจะเน้นขอเพื่อตัวเองมากกว่าครอบครัว ถึงแม้สังคมไทยของเราจะเป็นสังคมที่เน้นเรื่องครอบครัวเป็นศูนย์กลางซึ่งจะเห็นได้จากตัวเลขกว่า 65% ที่ว่าด้วยคนไทยขอพรเพื่อตัวเอง และแม้ว่าเราจะขอพรเพื่อตัวเองแล้วนั้นยังคงมีความแตกต่างที่น่าสนใจ เมื่อเจาะลึกลงไปในหัวข้อที่ว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมูต่างกันอย่างไร ซึ่งพบว่าในเพศชายมีแนวโน้มที่จะต้องการผู้รับฟัง เมื่อเทียบกับผู้หญิง ฟันธง” กรรณกล่าว
MY GEN MY MU : มูต่างวัย มองต่างมุม
“การมูเตลูของคนไทยนั้นไร้ข้อจำกัด ขอบเขตของการมูครอบคลุมไปตั้งแต่ การบูชาเทพทั้งในศาสนาของตัวเอง และต่างศาสนา ไปจนถึงการใช้เครื่องรางของขลัง การใช้เลขมงคล สีมงคล เป็นส่วนกระกอบต่างๆ ในชีวิตประจำวัน”
การศึกษาในหัวข้อ MY GEN MY MU มูต่างวัย มองต่างมุม นี้ ทางฮาคูโฮโดได้เจาะลึกผ่านคำตอบที่ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามได้อธิบายเกี่ยวกับการมูเตลู พบว่า ภายใต้คำว่า มูเตลู กลับมีมิติที่มาที่ไป และวิถีปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละเจน
โดยสามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 เจนได้แก่
1. Gen X : The Ritual Believer มูแบบtraditional คน Gen X หรือผู้คนที่อยู่ในช่วงอายุ 43-58 ปี เป็นช่วงวัยที่เติบโตในช่วงเริ่มต้นทุนนิยมในไทย ยืนหนึ่งเรื่องความพยายาม เน้นการยึดหลักปฏิบัติและธรรมเนียมที่มีมาแต่รุ่นก่อน และมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องภูมิใจ เมื่อถามถึงการมูเตลูของคน Gen X จึงเน้นเรื่องการสวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญทำทาน โดยมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็น “Booster” เสริมความหวังและกำลังใจให้แก่ตนเอง และด้วยช่วงอายุที่มากขึ้น ทำให้ชาว Gen X มีการมูเตลูเพื่อขอเรื่องสุขภาพมากกว่า Generation อื่นๆ เพราะการมีสุขภาพที่ดี คือการเพิ่มความมั่นใจว่าชีวิตจะไม่สะดุด สามารถลุยงานและเอนจอยชีวิตได้อย่างเต็มที่ และยังลดความเสี่ยงในการเป็นภาระของคนรอบข้างอีกด้วย
2. Gen Y : The Curated Explorer มูที่ใช่ไร้ขีดจำกัด คน Gen Y มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวคือ เปิดรับและปรับตัวเก่ง เนื่องจากคนในช่วงอายุ 27-42 ปี เติบโตมาในช่วงจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นยุครอยต่อระหว่าง analog-to-digital จึงมีการเปิดรับและปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี คน Gen Y จึงเปิดกว้างให้กับความศรัทธาแบบไร้ขีดจำกัด ได้ทุกศาสนาและความเชื่อ ที่จะสามารถมอบผลลัพธ์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการแบบเฉพาะเรื่องได้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้นำที่คอยนำทางและนำพาสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต ซึ่งคน Gen Y เองถือเป็นช่วงอายุที่เป็นวัยสร้างตัว จึงมักได้ชื่อเล่นว่าเป็น ‘เดอะแบก’ มีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และครอบครัวของตัวเอง ดังนั้นจึงโฟกัสกับการเงินและการงานมากกว่า Generation อื่น เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าในชีวิต ซึ่งหากสามารถทำตรงนี้ได้ดี จะเป็นการเพิ่มความภูมิใจและ self-esteem ของพวกเขาอีกด้วย
3. Gen Z : The Minimal Integrator มูแบบมินิมัล Gen Z หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนวิถีการมูให้มา blend in แบบเนียนๆ อยู่ในรูปแบบของแฟชั่นและสีสันในชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 11-26 ปี เติบโตในยุคดิจิทัลพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งใหม่ๆ และเอนจอยชีวิตได้ทุกสถานการณ์ การมูที่ชาว Gen Z นำมาปรับใช้เพื่อเป็น Gimmick ทั้งในด้านการซัปพอร์ตและฮีลใจนั้น ไม่ว่าจะเป็น การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าสีมงคล เครื่องประดับมงคลชิ้นเล็กๆ หรือแม้แต่วอลเปเปอร์บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือก็เช่นกัน การงานและการเรียนคือสิ่งที่ชาว Gen Z ขอจากการมูเตลูมากกว่า Generation อื่นๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ยังอยู่ทั้งในวัยเรียนและกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการค้นหาตัวเอง เลือกทางเดินในการมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง เพื่ออนาคตที่สดใสและชีวิตที่ดีกว่าเดิม
แนะแบรนด์โหนกระแสมูเตลูผ่าน 3 กลยุทธ์
นางสาวดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้แจกแจงและให้คำแนะนำแก่แบรนด์ที่ต้องการนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปปรับเป็นกลยุทธ์ให้เข้ากับแบรนด์ของตนเองเพื่อก่อให้เกิดความน่าสนใจ ไว้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1. Gen X: Empowering Muketing เติมพลังใจ เพิ่มพลังกายคนสายมู เติมพลังให้กับชาว Gen X ด้วยการเน้นการส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพให้กับคนกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยสามารถเพิ่มความน่าสนใจและคุณค่าในแง่ของความสุขทางใจ ด้วยกิจกรรมมูเตลูที่พวกเขาคุ้นเคย เช่น จัดอีเวนต์ “กิจกรรมเดิน-วิ่ง 9 วัด” ที่ให้คน Gen X ได้สวดมนต์ ทำบุญขอพรและได้ออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน หรือจัดทำ “Packaging บทสวดมนต์/บทอวยพรมงคล” ที่ทำให้พวกเขาสามารถสวดเพิ่มกำลังใจได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามแบรนด์ควรคำนึงถึงขอบเขต และความเหมาะสมตามธรรมเนียมและวิถีปฏิบัติที่ชาว Gen X ยึดถือด้วย
2. Gen Y: Embracing Muketing เปิดประสบการณ์มูแบบใหม่ๆ เอาใจคนชอบลอง คน Gen Y มีนิสัยเปิดกว้าง ชอบลองของใหม่ ชอบโพสต์และแชร์ชีวิตแบบฮิปๆ ของตัวเอง ดังนั้นแบรนด์อาจ recommend การมูแบบใหม่ๆ ที่ไม่มีมาก่อน โดยยึดหลักจุดประสงค์ชัด ประสบการณ์ใหม่ ถ่ายรูปสวย เช่น “Meet and Mu” ทริปมูเตลูที่เน้น new spot ทั้งในและนอกประเทศ พร้อมการ tie-in สินค้าหรือบริการของแบรนด์
นอกจากจะได้มูตามศรัทธาแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้เที่ยวและพบปะเพื่อนใหม่ๆ คอเดียวกัน และยังได้รูปสวยๆ ไปโพสต์ได้ด้วย แต่ท้ายที่สุดแบรนด์ควรระวังความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลต่างๆ เพราะคน Generation นี้ชอบค้นหา และแชร์ข้อมูลกับคนรอบข้าง
3. Gen Z : Embellish Muketing หรือ Mu-nimalistic เอาใจคนรุ่นใหม่ “มูแบบไม่ตะโกน” คือวิธีการมูที่ถูกจริตชาว Gen Z ที่สุด แบรนด์สามารถเพิ่ม occasion ในการ connect กับคน Gen Z ได้ด้วยการเสริมเรื่องราวมูเตลูที่ “ดูดีมีสไตล์” และ “เอนจอยร่วมกันกับเพื่อนๆ ได้” ให้กับสินค้าหรือบริการ เช่น จัดแพกสินค้าสีมงคลสำหรับทุกๆ วัน หรือ “สติกเกอร์ God-vengers รวมพลังเทพครบเซต” อีกทั้งยังควรเปิดโอกาสให้คน Gen Z ได้ “Mu - Mix - Match” ในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เช่น สินค้าแฟชั่น/ accessories หรือกลุ่มบิวตี้ ที่มี color palette เป็น “สีมงคลพาสเทล” เสริมความสนุกและความมั่นใจ ให้กับพวกเขาทั้งในชีวิตประจำวันและโลกออนไลน์
“แม้การมูเตลูจะแพร่หลายในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อเรามองให้ลึกลงไปผ่านหลักปรัชญา Sei-Katsu-Sha เราจะเห็นได้ว่าคนแต่ละยุคสมัยต่างมีมุมมองและการกระทำที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดมาจากภูมิหลังของชีวิต ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย และสิ่งเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี” ดวงแก้วกล่าว
มูมาร์เกตติ้ง ขึ้นท็อป 3 ที่ต้องใช้
ก่อนท้ายสุด การมูกำลังเป็นกระแสของส่วนประกอบสำคัญของความสำเร็จ เห็นได้จากดาราดังระดับตัวแม่ของเมืองไทย ได้ออกมาเปิดเผยวิธีการมูของตน จนประสบความสำเร็จ ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน และเรื่องของการทำธุรกิจ บวกกับมีรายการต่างๆ ที่อิงเรื่องของการมูเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้กระแสการมูพีกยิ่งขึ้น
ส่งผลให้ 1-2 ปีที่ผ่านมาสินค้าและแบรนด์ต่างๆ พร้อมโหนกระแสมูเตลูนำมาใช้เพื่อการตลาดกันมากขึ้น ที่สำคัญ ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า เช่น สายแฟชั่น อย่างแบรนด์เครื่องประดับ ที่นำเรื่องการสวมใส่เครื่องประดับเสริมดวงมาทำการตลาด ยอดขายดีขึ้นหลายเท่า, สถาบันการเงินหันมาทำวอลเปเปอร์เสริมดวง ซึ่งต้องจ่ายเงินก่อน ลูกค้าก็พร้อมยอมจ่าย เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว มูมาร์เกตติ้ง ปีนี้จึงขึ้นมาเป็นท็อป 3 ที่สายตลาดต้องหยิบมาใช้ เพราะไม่ว่าจะฟรีหรือเสียตังค์ ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายก็พร้อมจ่าย หากวิธีการมูที่นำเสนอนั้นโดนใจ ฉันพร้อมเปย์ เพราะมูแบบนี้ นี่แหละตัวฉัน ..ตัวแม่สายมู