xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนพัฒนาสนามบินใหม่ 7 แห่งทั่วไทย คุ้มไหม? ทุ่มงบบูมเมืองรองหวั่น! 'พะเยา' ซ้ำรอย 'เบตง'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการเดินทางกลับมาเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มาตรการ VISA Free รวมไปถึงการประกาศเร่งยกระดับเพิ่มศักยภาพสนามบินของประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคในอนาคต มีการเร่งเครื่องพัฒนาสนามบินหลัก ทั้ง “สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต” ที่เป็นประตูหลักในการเดินทางเข้า-ออก ประเทศ ขณะที่สนามบินภูมิภาค ซึ่งจะส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่และเชื่อมต่อกับสนามบินหลักก็มีความสำคัญเช่นกัน ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่ เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 หรือ ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา ช่วงวันที่ 18-19 มี.ค. 2567 ได้หารือแผนการพัฒนาสนามบินจังหวัดพะเยา 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ตั้งใจมาดูพื้นที่สร้างสนามบินจังหวัดพะเยา นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ เพื่อใช้เงินภาษีที่พี่น้องประชาชนจ่ายมาให้เหมาะสม ใช้เหตุผลเพื่อศึกษาในความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา โดยรัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ เนื่องจากหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล คือ การยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลัก ซึ่งปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้เมืองรองเป็นเมืองหลักได้คือเรื่องของการคมนาคม ดังนั้นสนามบินถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด 

สำหรับสนามบินพะเยา ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนศรีชุม และตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งการเดินทางมาจังหวัดพะเยายังต้องใช้ท่าอากาศยานใกล้เคียงได้แก่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย มีระยะทางห่างจากจังหวัดพะเยาประมาณ 103 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ทั้งนี้ การจัดตั้งสนามบินพะเยาจะทำให้ผู้เดินทางมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่สำคัญของประเทศ 


ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง สนามบินพะเยา โดยได้สำรวจออกแบบเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2564 ซึ่งผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งท่าอากาศยานที่เหมาะสม คือ ตำบลดอนศรีชุม และตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ ห่างจากตัวเมืองพะเยา 20 นาที

ขณะที่ปัจจุบันการเดินทางมาจังหวัดพะเยาโดยเครื่องบินจะไปลงท่าอากาศยานของจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย สนามบินลำปาง สนามบินแพร่ สนามบินน่านนคร ซึ่งหากจังหวัดพะเยามีสนามบินที่ไม่ห่างจากตัวเมืองจะเป็นทางเลือกการเดินทางที่ทำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจังหวัดพะเยาได้สะดวกขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ความคืบหน้าโครงการฯ อยู่ระหว่างจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าจ้างออกแบบงานก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน องค์ประกอบอื่นๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 42.6926 ล้านบาท


@เปิดผังพัฒนา "สนามบินพะเยา" เนื้อที่กว่า 2 พันไร่

จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินพะเยา ระบุตำแหน่งที่ตั้งเหมาะสม คือ ตำบลดอนศรีชุม และตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ทางหลวงหมายเลข 1021 ทิศตะวันตกเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1251 พื้นที่โดยรอบเป็นสถานที่ราชการ ที่ราชพัสดุ โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่สนามบินรวม 2,812.50 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ส่วน Airside ประมาณ 1,350 ไร่ พื้นที่ส่วน Landside ประมาณ 1,462.50 ไร่

โดยพื้นที่ Airside ประกอบด้วย 1. ทางวิ่ง (Runway) กว้าง 45 ยาว 2,500 เมตร 2. Runway End Safety Area กว้าง 90 เมตร ยาว 240 เมตร 3. Exit Taxiway 2 เส้นความยาว เส้นละ 175 เมตร 4. Parallel Taxiway กว้าง 25 เมตร ยาว 700 เมตร 5. ลานจอดขนาด 180 เมตร X 120 เมตร 6. สถานีดับเพลิงและกู้ภัย 7. ลานจอดและโรงซ่อมบำรุงอุปกรณ์บริการภาคพื้น

พื้นที่ Landside ประกอบด้วย 1. อาคารผู้โดยสาร พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร 2. ลานจอดรถยนต์ส่วนบุคคล 150 ช่องจอด 3. คลังสินค้า 4. ลานเก็บวัสดุซ่อมบำรุง 5. พื้นที่บ้านพักข้าราชการ 6. ระบบบริหารจัดการการระบายน้ำ

ประเมินมูลค่าลงทุนที่ 4,421.84 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นประมาณ 1,700 ล้านบาท (ราคาประเมินช่วง ม.ค. 2559-ธ.ค. 2562) และค่าก่อสร้าง ในช่วงแรกประมาณ 2,201.485 ล้านบาท ได้แก่ 1. ค่าก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร วงเงิน 661.50 ล้านบาท 2. เขตควบคุมความปลอดภัย วงเงิน 127.00 ล้านบาท 3. เขตต่อเชื่อม Landside / Airside วงเงิน 6.00 ล้านบาท 4. เขตปฏิบัติการ Airside วงเงิน 1,063.50 ล้านบาท 5. อื่นๆ วงเงิน 143.35 ล้านบาท และประเมินค่าดูแลบำรุงรุกษารายปีระยะ 30 ปี หรือ 720.49 ล้านบาท (ปีละ 24.02 ล้านบาท )

โดยมีศักยภาพรองรับเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง เช่น แอร์บัส A 320 และโบอิ้ง B 737 คาดเริ่มก่อสร้างในปี 2569 และเปิดให้บริการในปี 2572 มีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จากการศึกษากรณีวิเคราะห์สถานการณ์สูง (High Case) ช่วงแรกจะมีจำนวนผู้โดยสาร 99,191 คนต่อปี โดยมี 2 เที่ยวบินต่อวัน และมีจำนวนมากกว่า 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์

การศึกษาแผนพัฒนาโครงการมี 3 ช่วง ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วง 10 ปีแรก โดยเปิดให้บริการปี 2577 ตามความต้องการใช้สนามบิน 78,348 คนต่อปี และในปี 2587 ความต้องการจะเพิ่มเป็น 94,920 คนต่อปี ระยะที่ 2 ช่วงปี 2587-2597 มีความต้องการใช้สนามบิน 230,213 คนต่อปี ระยะที่ 3 ช่วงปี 2597-2607 มีความต้องการใช้สนามบิน 324,969 คนต่อปี


@ไม่แน่ใจ! ศึกษาทบทวนใหม่ เกรงใช้ภาษีประชาชนลงทุนแล้วไม่คุ้มค่า

แน่นอน...ประชาชนและนักการเมือง จ.พะเยา ต้องการผลักดันให้มีสนามบินของจังหวัด แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ เพราะใช้เงินภาษีพี่น้องประชาชน จำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลมีแผนพัฒนาสนามบินล้านนา จ.เชียงใหม่ และขยายศักยภาพสนามบินใกล้เคียงอีกหลายแห่ง เช่น สนามบินน่านนคร ที่มีระยะห่าง 88 กม. สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราง ระยะห่าง 89 กม. สนามบินลำปาง ระยะห่าง 112 กม. สนามบินแพร่ ระยะห่าง 114 กม. และสนามบินเชียงใหม่ ระยะห่าง 120 กม.

“ขณะที่ประชาชนมีความต้องการ แต่ต้องไม่ลืมว่า จ.พะเยาล้อมรอบด้วยสนามบิน 5 แห่งที่อยู่ไม่ไกลมาก จำเป็นต้องศึกษาทบทวนให้รอบคอบ ว่าการลงทุนจะคุ้มค่าจริงแค่ไหน การประชุม ครม.สัญจรจึงยังไม่มีการพิจารณาเรื่องของบประมาณศึกษา จ้างออกแบบ และศึกษา EIA ที่ตั้งกรอบไว้ประมาณ 42 ล้านบาทแต่อย่างใด ขณะที่คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะให้กรมท่าอากาศยานทำการทบทวนการศึกษาอีกครั้งแน่นอน”

@สนามบินภูมิภาค 29 แห่งขาดทุนระนาว ส่วน "กระบี่ อุดรธานี" มีกำไร แต่ต้องโอนให้ ทอท.

ปัจจุบันสนามบินในกำกับของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มีจำนวน 29 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่มภาคเหนือ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, ปาย, แม่สะเรียง, น่านนคร, แพร่, ลำปาง, ตาก, แม่สอด, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ เลย, อุดรธานี, ขอนแก่น, สกลนคร, นครพนม, ร้อยเอ็ด,  นครราชสีมา, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี ภาคใต้ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, ตรัง, ปัตตานี, นราธิวาส, เบตง, หัวหิน

ซึ่งต้องยอมรับว่าสนามบินภูมิภาคบริหารดูแลโดย กรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ มีเป้าหมายให้บริการ อำนวยความสะดวกโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมแก่ประชาชน และสร้างอาชีพคนในพื้นที่ ทำให้สนามบินส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ขาดทุน แต่เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีสนามบิน 6 แห่งที่มีกำไร ได้แก่ 1. สนามบินกระบี่มีกำไร 374.66 ล้านบาท 2. อุดรธานี มีกำไร 47.64 ล้านบาท 3. ขอนแก่น กำไร 37.04 ล้านบาท 4. สุราษฎร์ธานี กำไร 29.14 ล้านบาท 5. อุบลราชธานี กำไร 28.51 ล้านบาท 6. นครศรีธรรมราช กำไร 23.57 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ทย.มีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถเพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐมีนโยบายให้โอนสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่, อุดรธานี, บุรีรัมย์ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหาร ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการโอน

ย้อนหลัง สถิติปริมาณผู้โดยสารเที่ยวบินสนามบินของ ทย.มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสการท่องเที่ยวและการเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ โดยนับจากปี 2556 มีปริมาณเที่ยวบิน 91,551 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม 8.13 ล้านคน และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 109,104 เที่ยวบิน และผู้โดยสาร 11.06 ล้านคน และเพิ่มขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 2561 ที่ 151,674 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 19 ล้านคน ก่อนจะลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่ำสุดในปี 2564 มี 46,058 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารที่ 4.45 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 คลี่คลาย การเดินทางกลับมาฟื้นตัว ปี 2565 มีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มเป็น 88,387 เที่ยวบิน ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 11.54 ล้านคน และปี 2566 เที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 93,320 เที่ยวบิน ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 13.32 ล้านคน


@เผยการศึกษา เตรียมแจ้งเกิด 7 สนามบินใหม่

ปัจจุบัน ทย.มีแผนการพัฒนาสนามบินใหม่อีก 7 แห่ง ซึ่งได้มีการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นไว้แล้ว บางแห่งก้าวหน้าไปในขั้นการออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) ได้แก่

1. สนามบินมุกดาหาร เบื้องต้นที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่บริเวณ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร พื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ อยู่ห่างจาก อ.เมืองมุกดาหาร ประมาณ 20 กม. มีสนามบินใกล้เคียง 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินนครพนม และสนามบินสกลนคร มีระยะห่างจากแต่ละสนามบินประมาณ 120 กม. ปัจจุบันศึกษาเบื้องต้น ออกแบบ และศึกษา EIA แล้ว วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท คาดกันว่าจะเป็นสนามบินแห่งใหม่ ลำดับที่ 30 ของ ทย. ต่อจากสนามบินเบตง

2. สนามบินบึงกาฬ จุดเหมาะสมอยู่ในเขต ต.โป่งเปือย และ ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ พื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ ศึกษาเบื้องต้นแล้ว วงเงินลงทุน 3,100 ล้านบาท

3. สนามบินนครปฐม จุดเหมาะสม อ.บางเลน (ต.บางระกำ ต.ลำพญา) และ อ.นครชัยศรี (ต.บางแก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด) พื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่  ศึกษาความเหมาะสมแล้ว วงเงินลงทุนประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท มีปัญหาประชาชนในพื้นที่คัดค้านหวั่นผลกระทบทางเสียงและสิ่งแวดล้อมทางอากาศ มลพิษ และการระบายน้ำ และใช้พื้นที่สีเขียว

4. สนามบินสตูล จุดหมาะสม ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง พื้นที่ประมาณ 2,797 ไร่ ศึกษาความเหมาะสมแล้ว วงเงินลงทุน 4,100 ล้านบาท

5. สนามบินพะเยา จุดเหมาะสม ต.ดอนศรีชุม ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ พื้นที่ประมาณ 2,812 ไร่ ศึกษาความเหมาะสมแล้ว วงเงินลงทุน 4,421 ล้านบาท คาดหมายของบปี 68 ออกแบบรายละเอียดและศึกษา EIA

6. สนามบินสารสินธุ์ จุดเหมาะสม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ รอยต่อ จ.มหาสารคาม 2 จังหวัดได้รับประโยชน์ร่วมกัน พื้นที่ประมาณ 1,648 ไร่ ศึกษาความเหมาะสมแล้ว วงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท

7. สนามบินพัทลุง จุดที่เหมาะสม ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง (ควนพร้าว) ริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่ประมาณ 1,496 ไร่ ศึกษาความเหมาะสมแล้ว วงเงินลงทุน 3,075 ล้านบาท


@ สายการบินตัวแปร หากไม่บิน สร้างไปก็ไม่คุ้ม

ตามข้อมูลกรมท่าอากาศยานได้ระบุถึงการศึกษาเบื้องต้นความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินนั้น ทำได้ทุกจังหวัด แต่จะก่อสร้างได้หรือไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ซึ่งการศึกษาสนามบินใหม่ทั้ง 7 แห่งปัจจัยพื้นฐานมาจากมีความต้องการของจังหวัด หรือเป็นนโยบายรัฐบาล โดยมีหลักเกณฑ์มาตรฐานความคุ้มค่า คือ จะต้องมีระยะห่างจากสนามบินใกล้เคียง มีระยะเวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ไม่น้อยกว่า 90 นาที

“แต่!!! เหตุผลเหล่านั้นยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด เท่ากับว่า ต้องมีเที่ยวบินอย่างน้อย 2 เที่ยวบินต่อวัน เพราะนั่นคือ ตัวชี้ความคุ้มค่าในการลงทุนที่แท้จริง ไม่มีสายการบินทำการบิน ไม่มีเที่ยวบินไป สร้างไปก็ไม่คุ้มค่า ไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอยสนามบินเบตง จ.ยะลา”

สำหรับสนามบินเบตงใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 1,900 ล้านบาท เสร็จต้นปี 2563 เป็นสนามบินแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน ได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ทำให้มีเที่ยวบินทางราชการ และเที่ยวบินส่วนบุคคลเข้าใช้งาน และสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ วันที่ 14 มีนาคม 2565 โดยสายการบินนกแอร์ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-เบตง-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) แต่…บินได้ไม่กี่เดือนก็ต้องหยุดบินเพราะขาดทุนยับ

หลักการ เหตุผล ที่จะชี้ว่าควรก่อสร้างสนามบินตรงไหน อย่างไร มีอยู่แล้ว แต่แรงหนุน แรงต้าน ของคนในพื้นที่รวมไปถึงนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล ประกอบกับการขับเคลื่อนทางนโยบายของรัฐบาล ล้วนเป็นตัวแปรที่ทำให้สมมติฐานบิดเบี้ยว ซึ่งอาจจะเกิดการซ้ำรอย "เบตง 2" สนามบินสร้างใหม่แต่กลายเป็นสนามบินร้างทันที และอาจถูกมองว่า ใช้ภาษีประชาชนไม่คุ้มค่า!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น