xs
xsm
sm
md
lg

GUNKUL ชี้ปี 67 โกยรายได้โต 20% แตะ 9.5 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” ตั้งเป้าปีนี้รายได้ 9,500 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 20% แม้ไตรมาส 1/67 รายได้จากพลังงานลมลดลงแต่มีรายได้จากธุรกิจ EPC และธุรกิจเทรดดิ้งเข้ามาชดเชย เดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ที่ประมูลได้ทั้ง 17 โครงการ 832.4 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุน 3-4 หมื่นล้าน หนุนรายได้ในปี 73 แตะ 2 หมื่นล้านบาท

นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตขึ้น 20% มาอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) 3,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้รวม 7,737.13 ล้านบาทและมี EBITDA 3,322 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมลดลงจากไตรมาส 4/2566 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล แต่จะมีรายได้จากธุรกิจก่อสร้างที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า (EPC) และธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า (เทรดดิ้ง) เข้ามาชดเชย ทำให้ไตรมาส 1/2567 คาดว่าจะมีรายได้ใกล้เคียงเดิมหรือดีขึ้นเล็กน้อย

โดยธุรกิจก่อสร้างฯ ในปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ไว้ราว 4,000 ล้านบาท และปีถัดไปมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,400 ล้านบาท จากปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 5,000-6,000 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทรอเข้าประมูลงานก่อสร้าง 5-6 โครงการ อาทิ โครงการสายส่งเคเบิลใต้ทะเลขนอม-สมุย เปิดประมูลไตรมาส 2/2567 

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 17 โครงการ รวม 832.4 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) แล้วจำนวน 14 โครงการ รวม 621.4 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะมีการเซ็น PPA ในลำดับถัดไป ทำให้บริษัทมีรายได้และ EBITDA เติบโตต่อเนื่องใน 5-7 ปีข้างหน้า จากปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 1,448 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 38% เป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2569

ทั้งนี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ทั้ง 17 โครงการรวม 832.4 เมกะวัตต์ ราว 3-4 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทุกโครงการในปี 2573 บริษัทมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท และ EBITDA มากกว่า 9 พันล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมความพร้อมเข้าประมูลซื้อขายไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบใหม่ของภาครัฐ และยังรับงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป Private PPA อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นปีละ 100 เมกะวัตต์


กำลังโหลดความคิดเห็น