xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟมือสองญี่ปุ่น Kiha 40/48 เตรียมลงเรือขนย้ายมาไทย รฟท.ลุยปรับปรุงเสริมทัพ "ท่องที่ยว-โดยสาร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รถไฟมือสองจากญี่ปุ่นรุ่น Kiha 40 และ 48 จำนวน 20 คัน เตรียมลงเรือขนย้ายมาไทยปลายเดือน มี.ค.นี้ ผู้ว่าฯรฟท.เผยแผนปรับปรุงเป็นรถท่องเที่ยว คาดปีนี้ประมูลซื้อแคร่สินค้า 946 คัน และเร่งชงบอร์ดเคาะจัดหารถโดยสาร 182 คันกว่า 1 หมื่นล้าน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่ญี่ปุ่นบริจาครถดีเซลรางปรับอากาศ Kiha 40 และ Kiha 48 จำนวน 20 คัน แบบให้เปล่าโดย รฟท.รับผิดชอบค่าขนส่งเองซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการขนย้ายนั้น คาดว่าจะสามารถขนส่งลงเรือออกจากประเทศญี่ปุ่นช่วงปลายเดือน มี.ค. 2567 นี้ โดยประเมินว่าจะใช้เวลาขนย้ายหลายเดือน ทั้งนี้ เมื่อขบวนรถมาถึงประเทศไทย ขั้นตอนแรกจะเป็นการตรวจสอบรถทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อประเมินสภาพและกำหนดแผนการซ่อมปรับปรุงและจัดตั้งงบประมาณสำหรับดำเนินการต่อไป โดยจุดแรกที่ต้องปรับปรุงก่อนคือ การปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตรให้เป็น 1.00 เมตร ให้เข้ากับขนาดรางของประเทศไทย

ทั้งนี้ รูปแบบและวัตถุประสงค์ในการดำเนินการปรับปรุงจะเป็นเหมือนกับรถไฟดีเซลราง JR Hokkaido Kiha 183 จากญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน ที่ไทยได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2564 โดยนำมาปรับปรุงและนำรถออกวิ่งเป็นขบวนท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก และอาจจะนำมาทดแทนในส่วนของรถโดยสารบ้าง

“ช่วงสัปดาห์หน้าผมจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อขอบคุณทางญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ และเป็นไปได้ที่ทางญี่ปุ่นอาจจะมีการบริจาครถให้เพิ่มอีก จากนั้นจะไปท่าเรือเพื่อตรวจความคืบหน้า ก่อนมีการเริ่มนำรถดีเซลรางปรับอากาศ Kiha 40 และ Kiha 48 ชุดแรกลงเรือซึ่งต้องใช้เวลาขนส่งระยะหนึ่งจึงจะมาถึงประเทศไทย ส่วนรถญี่ปุ่น Kiha 183 จำนวน 17 คัน ที่ได้รับบริจาคมาก่อนหน้านี้ปรับปรุงไปแล้ว 2 ชุด ชุดละ 4 คัน กำลังปรับปรุงชุดที่ 3 และ 4 โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2567” ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า  โครงการจ้างขนรถดีเซลรางปรับอากาศ Kiha 40 และ Kiha 48 จำนวน 20 คันจากประเทศญี่ปุ่น แบ่งเป็น 6 ชุด ชุดละ 3 คัน สำรอง 2 คัน มีบริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการ วงเงินดำเนินการ 48.6 ล้านบาท รายละเอียดการดำเนินงานตาม TOR คือ กำหนดเวลาดำเนินการแล้วเสร็จไม่เกิน 330 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 งวด คือ งวด 1 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากย่านสถานีเมืองอาคิตะ ขนส่งไปยังเมืองนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่นหรือสถานที่อื่นๆ ตามกำหนด ภายใน 120 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง

งวดที่ 2 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศ จำนวน 20 คัน จากท่าเรือนีงาตะ หรือสถานที่อื่นๆ ตามที่กำหนดมายังท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ภายใน 120 วันนับถัดจากวันที่ดำเนินการแล้วเสร็จในงวดที่ 1 

งวดที่ 3 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการขนส่งรถดีเซลรางปรับอากาศจำนวน 20 คันจากท่าเรือแหลมฉบัง และส่งมอบพัสดุให้สถานีรถไฟแหลมฉบังภายใน 90 วันนับถัดจากวันที่ดำเนินการแล้วเสร็จในงวดที่ 2 

สำหรับรถดีเซลรางรุ่น KiHa 40 การรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่น (JNR) ได้นำมาดำเนินการในปี พ.ศ. 2520 และควบคุมการเดินรถโดยบริษัทJapan Railways Group โดยให้บริการในพื้นที่ชานเมืองและชนบทในญี่ปุ่น โดยรถรุ่น KiHa 40 ใช้ทดแทนรุ่น KiHa 10 และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมารถไฟประเภทนี้มีการใช้งานโดยบริษัทรถไฟเอกชนอื่นๆ ในญี่ปุ่น หลังจากที่กลุ่ม Japan Railways เลิกให้บริการ ซึ่งเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นมีแนวคิดบริจาคให้ไทยแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นจะต้องออกค่าขนส่งเอง 

โดยขณะที่รถไฟรุ่นดังกล่าวให้บริการอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น จะวิ่งบนทางขนาด 1,067 มิลลิเมตร หรือ 1.067 เมตร โดยมีความเร็วสูงสุด 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


@ชงบอร์ดเคาะจัดหารถโดยสาร 182 คันกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลุ้นปีนี้ได้ประมูลแคร่สินค้า 946 คัน  

สำหรับแผนการจัดหารถจักรล้อเลื่อนของรฟท.เพื่อนำมาให้บริการประชาชนและการขนส่งสินค้าเพิ่มนั้น นายนิรุฒกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้เสนอโครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศจำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อนำเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบว่าอยู่ระหว่างการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ 

นอกจากนี้ รฟท.เตรียมเสนอโครงการจัดหารถโดยสารทดแทนรถด่วนและด่วนพิเศษจำนวน 182 คัน วงเงิน 10,373 ล้านบาท ต่อบอร์ด รฟท.พิจารณาเร็วๆ นี้ เพื่อนำมาให้บริการหลังโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรกแล้วเสร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น