xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านยื่นค้านสร้าง”รันเวย์2”สนามบินอู่ตะเภา ร้องรื้อแนวเส้นเสียงใหม่หวั่นผลกระทบสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีอีซี จัดประชุม ชี้แจงแนวทางและขั้นตอนการสำรวจและ จัดทำบัญชีค่าชดเชยและเจรจาค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ เส้นเสียง โครงการก่อสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา ขณะที่ชาวบ้านรวมตัวค้ดค้านพร้อมยื่นหนังสือให้ทบทวนแนวเส้นเสียงใหม่ หวั่นผลกระทบสูง ด้านอีอีซียันดำเนินการตามรายงาน EHIA

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี แจ้งว่า อีอีซี ได้จัดการประชุมครั้งที่ 1 เพื่อชี้แจงความเป็นมา ขอบเขตพื้นที่โครงการ แนวทางและขั้นตอนการสำรวจ โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนการสำรวจ จัดทำบัญชีค่าชดเชยและเจรจาค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่เส้นเสียง โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ทั้งหมด 11 เวที ณ หอประชุมอำเภอบ้านฉาง ระหว่างวันที่ 13 - 20 มีนาคม 2567 ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 นายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้เป็นประธานการประชุม โดยมีนายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการ อีอีซี และนายวิทยา นพวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสัญญาร่วมลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อีอีซี เข้าร่วมประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมแล้วประมาณ 300 คน ณ หอประชุมอำเภอบ้านฉาง


ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในตำบลสำนักท้อน (นำโดยนายประเสริฐ แสงใหญ่) ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เลขาธิการ อีอีซี และนายอำเภอบ้านฉาง เรียกร้องให้ชะลอการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 (รันเวย์ที่ 2 ) และขอให้ยกเลิกแผนที่เส้นเสียงจากรายงาน EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยขอให้มีการทำแผนที่เส้นเสียงใหม่โดยใช้แบบจำลองที่เป็นธรรม เปิดเผย ครอบคลุมให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบพิสูจน์ทราบได้

โดยนายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง และดร.ธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการ อีอีซี เป็นผู้แทนในการรับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในตำบลสำนักท้อนดังกล่าว


นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน รองเลขาธิการ อีอีซี ชี้แจงว่า การสำรวจ จัดทำบัญชีค่าชดเชยและเจรจาค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่เส้นเสียงในครั้งนี้ จะดำเนินการโดยที่ปรึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้มีความถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งกรณีของเส้นเสียงที่มีข้อร้องเรียน ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอหรือยุติการดำเนินงาน สกพอ. จึงยังต้องดำเนินการตามมาตรการของรายงาน EHIA

ในการลงสำรวจพื้นที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยได้มีการสำรวจเผื่อไว้จากกรอบแนวเส้นเสียง NEF = 40 ตามรายงาน EHIA ออกไปอีกประมาณ 100 เมตร เป็นการเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดเพื่อให้คณะทำงานสำรวจและพิจารณาค่าชดเชยเยียวยา ที่แต่งตั้งขึ้นตามรายงาน EHIA ได้มีข้อมูลในการพิจารณาอย่างครบถ้วน โดยผลการพิจารณาของคณะทำงานเป็นอย่างไร อีอีซี จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการขอรับการจัดสรรงบประมาณในการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น