อนุฯ กมธ.กิจการศาลฯ สภาผู้แทนฯ เรียก "รฟท.-อีอีซี-ซี.พี." ถกปัญหาไฮปีดเชื่อม 3 สนามบิน แจงบีโอไอขีดเส้นส่งเอกสารใน 22 พ.ค. 67 หากไม่ทันเสี่ยงยกเลิกสัญญา ภาครัฐเร่งประเมินความเสี่ยงหวั่นฟ้องร้องซ้ำรอยโฮปเวลล์ ด้าน ซี.พี.เผยผลศึกษาใหม่ ล่าสุดพบผลตอบแทนโครงการลดฮวบลงทุนไม่คุ้มค่า
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 คณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการประชุม ครั้งที่ 10 โดยมีวาระการพิจารณา ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยเชิญผู้แทนส่วนงานที่เกี่ยวข้องและเอกชนเข้าให้ข้อมูล
นางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน คณะที่ 1 กล่าวว่า ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เข้าให้ข้อมูลเพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการ โดยเฉพาะสาเหตุที่ยังไม่สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จะต้องให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก่อน ซึ่งล่าสุด ทางบีโอไอได้มีการขยายเวลาถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 ซึ่งหากพ้นกำหนดอาจจะเป็นประเด็นที่จะนำมาสู่การยกเลิกสัญญาได้
ทั้งนี้ จากการสอบถามพบว่าสาเหตุที่บีโอไอยังไม่ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้ เนื่องจากทางเอกชนยังส่งเอกสารไม่ครบถ้วน ขณะที่ทาง บจ.เอเชีย เอรา วัน ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าสาเหตุที่ยังไม่ได้ส่งรายละเอียดบางส่วนเพื่อใช้ในการขอบัตรส่งเสริมการลงทุนนั้น เนื่องจากแหล่งเงินยังไม่พิจารณาอนุมัติเงินกู้ให้ ซึ่งเอกชนระบุว่ามีการยื่นกู้เงินไปยังสถาบันการเงินหลายแห่ง แต่เนื่องจากคำขอเงินกู้มีวงเงินสูง และที่ผ่านมาช่วงปี 2562-2564 ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
@อีอีซี-รฟท.ต้องประเมินความเสี่ยง หวั่น "ยกเลิกสัญญา" พิพาทซ้ำรอยโฮปเวลล์
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงกรณีหากต้องยกเลิกสัญญาร่วมลงทุนฯ ฝ่ายรัฐมีความเสี่ยงที่จะถูกเอกชนฟ้องร้องเหมือนกรณีโครงการโฮปเวลล์หรือไม่ นางสาวเบญจากล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดได้กล่าวในที่ประชุมว่า หากทาง ซี.พี.จะเป็นฝ่ายเลิกสัญญาในตอนนี้จะยังไม่มีประเด็นที่รัฐต้องเสียค่าปรับ เนื่องจากยังไม่มีการออก NTP และยังไม่ได้ส่งพื้นที่ให้เริ่มงาน ส่วนทาง รฟท.และอีอีซียังมีข้อกังวลกรณีรัฐเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก่อนว่าอาจจะสุ่มเสี่ยงถูกเอกชนฟ้องร้องเหมือนโครงการโฮปเวลล์ แม้ในสัญญาจะมีช่องทางให้รัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเอกชนได้ก็ตาม แต่เบื้องต้นทั้ง รฟท.และอีอีซีไม่ต้องการให้ไปถึงจุดที่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับเอกชน ซึ่งเบื้องต้นทั้ง รฟท. อีอีซี และ ซี.พี.จะมีการหารือกันอีกครั้ง
ซึ่งหากมีการยกเลิกสัญญากันจริง สำหรับแนวทางที่จะดำเนินการต่อ จะมีทั้งเปิดประมูลหาผู้ร่วมทุนใหม่ หรือเชิญกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย), บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย), บมจ.ราชกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาหรือขอรัฐอุดหนุนที่ 169,934 ล้านบาท มาเจรจาต่อรอง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง รฟท.และอีอีซียังไม่ตอบคำถามนี้ แต่ขอเวลาไปหารือภายในก่อน และอาจจะมีการหารือกับอัยการสูงสุดด้วย ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการจะทำหนังสือส่งไป เพื่อขอรายละเอียดในการหารือดังกล่าว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอว่าหากสามารถส่งเอกสารและหลักฐานให้ BOI ได้ก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2567 ก็ควรทำ
@ซี.พี.ศึกษาใหม่ พบผลตอบแทนโครงการลดฮวบ ลงทุนไม่คุ้มค่า
นอกจากนี้ ทาง ซี.พี.ยังได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า บริษัทฯ ได้ทำการศึกษาอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) ของโครงการใหม่ พบว่าผลการตอบแทนการลงทุนโครงการไม่คุ้มทุนแล้วเมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้มีการส่งข้อสังเกตนี้ให้สำนักงานอัยการสูงสุด รฟท.และอีอีซีรับทราบด้วยแล้ว