ประชาชนและภาคโรงงานอุตสาหกรรมแห่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปพุ่งกระฉูดรับมือค่าไฟที่ยังคงมีแนวโน้มเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย หลังต้นทุนการติดตั้งทันสมัย แถมราคาต่ำมาก สมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์คาดปี 2567 โซลาร์รูฟฯ หลังคาครัวเรือนโต 20-25% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโต 10-15% สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ต้นปีมาก หนุนรัฐทำให้ขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องยื่นขอสะดวกรวดเร็วจะดีสุด
นายปิยะศักดิ์ พิเชษฐนาวิน อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า จากอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในเดือน พ.ค.-ส.ค. 67 ที่อาจจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 4.18 บาท/หน่วย ประกอบกับปีนี้อากาศค่อนข้างร้อนเร็วส่งผลให้ประชาชน และโรงงานภาคอุตสาหกรรมหันมาติดระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ค่อนข้างสูงเพื่อลดรายจ่าย ทำให้ภาพรวมในปี 2567 คาดว่าการติดติดตั้งโซลาร์รูฟฯ ในส่วนของหลังคาบ้านประชาชนจะเติบโตในระดับ 20-25% จากปีก่อน ขณะที่โซลาร์รูฟฯ บนหลังคาอาคารโรงงานต่างๆ จะเติบโต 10-15% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงจากประเมินไว้ต้นปีมาก
“วันนี้ประชาชนหันมาติดตั้งมากเฉลี่ยบางวันเป็น 100 หลังคาเพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟในระยะยาว ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีไปไกลมากติดตั้งง่ายและที่สำคัญช่วงนี้ภาพรวมการติดตั้งราคาต่ำสุดแล้วเท่าที่เคยมีมาเพราะอุปกรณ์ต่างๆ พัฒนาได้ถูกลงและทันสมัย โดย 1 เมกะวัตต์ลงทุนราว 20 ล้านบาทบวกลบ หลังคาบ้านเฉลี่ยแสนต้นๆ บ้านเล็กหน่อยก็หลักหมื่น ระบบการบำรุงรักษาก็ดีหากเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ติดตั้งซึ่งสามารถติดต่อสมาคมฯ ได้เพราะมีมาตรฐาน ซึ่งประชาชนหลายส่วนอยากติดตั้งแต่ติดปัญหาไม่มีเงินตอนนี้มีผู้ประกอบการบางรายมีโมเดลแบบให้สินเชื่อแล้วผ่อนจ่ายก็เริ่มเข้ามามากขึ้น” นายปิยะศักดิ์กล่าว
สำหรับกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อปไม่ต้องเข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับภายในปี 2567 นับเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งการติดตั้งระบบโซลาร์ปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ 1. โซลาร์รูฟฯ บนหลังคาบ้านครัวเรือนของประชาชนซึ่งมุ่งเน้นที่จะติดตั้งเพื่อใช้เองเพื่อลดรายจ่ายเป็นหลักโดยขณะนี้ไม่ต้องขอรง.4 ซึ่งก็ทำให้ช่วยให้ง่ายขึ้นและจะทำให้ประชาชนได้รับโอกาสในการพึ่งพาตนเองและเป็นพลังงานสะอาด
2. โซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม กรณีนี้ผู้ผลิตไฟต้องผลิตไฟใช้เองห้ามขายไฟย้อนกลับ และหากจะขายจะต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนมากซึ่งทำให้ยาก เพราะการไฟฟ้าฯ มีความกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่อประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า จึงตั้งเงื่อนไขลักษณะควบคุม ทั้งที่ระบบไฟฟ้าควรจะต้องเป็นพลังงานสะอาดที่มากขึ้นตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในการเพิ่มขีดแข่งขันเพราะสามารถลดต้นทุนแต่ยังตอบโจทย์เทรนด์โลกสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการถึงเวลานั้นการส่งออกของไทยก็จะลำบากหากปล่อยให้ยืดเยื้อ
3. โซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งการลงทุนนั้นย่อมมุ่งเน้นสร้างผลกำไร ซึ่งในแง่นี้รัฐควรจะพิจารณาจัดเก็บรายได้บางส่วนเพราะหากกำไรสูงแล้วค่าไฟฟ้าแพงสุดท้ายจะไปตกที่ประชาชนอยู่ดี
“ต้องเข้าใจว่า รง.4 นั้นเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4 ขั้นตอนหลักๆ ในการดำเนินงานการขอตามระเบียบยังมีขั้นตอนต่างๆ อีก ดังนั้นการขออนุญาตผ่านอีกหลายหน่วยงานต่างๆ หากรัฐสามารถดำเนินการให้เร็วขึ้น สะดวก ง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดเพราะการเสียเวลาที่นาน ก็จะเจอภาระดอกเบี้ย บางทีก็เสียโอกาสไปเลยก็มี” นายปิยะศักดิ์กล่าว