xs
xsm
sm
md
lg

“เซ็นทารา” เครื่องร้อนรับท่องเที่่ยว ยึดหัวหาดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - เครือเซ็นทารา เครื่องร้อน ปีที่แล้ว ทำกำไรได้ครั้งแรกหลังเผชิญโควิดเล่นงานหลายปี เดินเกมรุกหนักปีนี้อีก 6 แห่ง วางงบรวม 3 ปีจากนี้ไว้่ที่ 13,000 ล้านบาท คงโมเดลเน้นรับจ้างบริหารเป็นหลัก ลุยขยายตลาดในหลายประเทศ เร่งขยายเครือข่ายมากขึ้น สานแผน ติดท็อป100 เครือโรงแรมชั้นนำของโลก พร้อมแผนเปลี่ยนโฉมแบรนด์โรงแรมคอนเซ็ปต์ใหม่ และเป็นแบรนด์ที่คว้าหัวใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกสมดังสโลแกน The Place to Be

ปี พ.ศ. 2566 นับเป็นปีที่เซ็นทาราเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ในไทย และเป็นปีที่ เซ็นทาราประสบความสำเร็จอย่างกับหลากหลายโปรเจกต์สำคัญ อาทิ การเปิดให้บริการ “เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า” ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกของเซ็นทาราในญี่ปุ่น, การได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2023 จากงาน Kincentric Best Employers Thailand 2023 และความสำเร็จของ แบรนด์ “เซ็นทารา แกรนด์” ที่คว้าตำแหน่งแบรนด์ที่แข็งแกร่งสุดในไทย จากรายงาน 50 อันดับบริษัทประจำปี 2023 โดยสถาบัน Brand Finance
 


ที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่เซ็นทาราสามารถสร้างผลประกอบการและกำไร ได้อย่างดี หลังจากเผชิญโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงและขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งปี 2565 หรือปีก่อนหน้ายังคงขาดทุนอยู่อีก 160 ล้านบาทอยู่เลย
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ปี2566ที่ผ่านมา เซ็นทาราบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ โดยมีรายได้รวมที่ 9,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงิน (EBITDA) จำนวน 3,284 ล้านบาท เติบโต 83% เมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 19% อยู่ที่ 4,141 บาท ซึ่งสำหรับแนวโน้มธุรกิจในปี 2567 นี้ เซ็นทาราคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) จะอยู่ที่ 70% - 73% และมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) จะอยู่สูงสุดที่ 4,300 บาท


ทั้งนี้ ปีที่แล้วมีกำไรสุทธิที่ 770 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 700 ล้านบาท
เขามั่นใจด้วยว่า ปี2567 นี้ก็น่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของเซ็นทาราและวงการโรงแรมและท่องเที่ยวโดยรวมด้วยเช่นกัน ด้วยปัจจัยบวกหลายอย่าง เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ท่ี่ 35 ล้านคน เป็นอย่างต่ำ ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวน 40 ล้านคน ช่วงก่อนโควิด
ขณะที่ในส่วนของคนจีนก็เข้ามาแล้วประมาณ 1.3 ล้านคน ในช่วงต้นปีนี้ จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ทางการตั้งไว้ที่ 8 ล้านคน เพราะรัฐบาลเองก็มีมาตรการต่างๆที่จะผลักดันเต็มที่ และกลุ่มต่างชาติที่เข้ามาในระยะหลังนี้จะเป็นกลุ่มคุณภาพมากขึ้น

บอสใหญ่ เซ็นทารา กล่าวว่า “ที่เห็นในระยะสั้นนี้ก็เช่น ออเดอร์ห้องพักโดยรวมของทางเซ็นทาราในช่วงซัมเมอร์สงกรานต์นี้มีมากกว่า 60% แล้ว และปีนี้มองแนวโน้มแล้วก็ยังคงสามารถที่จะปรับราคาห้องพักขึ้นมาได้อีก”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงก็ยังคงมีอยู่ บอสใหญ่เซ็นทารามองว่า เป็นเรื่องที่เราต้องจับดูตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อลงเงินเฟ้อ เรื่องสงคราม เรื่องเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการควบคุมต้นทุนดำเนินการต่างๆของเราเอง และปัญหาเรื่องคนในวงการโรงแรมที่ขาดแคลน ซึ่งปัญหาของเราบางอย่างเราก็มีการใช้ว่าาจ้างบริษัทข้างนอกดำเนินการหรือเอาท์ซอร์ส แต่เราเองมาเน้นที่การบริหารจัดการบริการลูกค้า


เซ็นทาราเองก็จัดทัพการลงทุนไว้พร้อมรองรับตลาดท่องเที่่ยวที่จะกลับมาเต็ม 100% ในอีกไม่ช้าอย่างน้อยก็ปีหน้า ด้วยเป้าหมายที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ

การผลักดันให้เครือเซ็นทาราก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 100 แบรนด์ เชนโรงแรมชั้นนำระดับโลกภายในปีพ.ศ. 2570 ซึ่งล่าสุดปีที่แล้ว ได้ขยับขึ้นมาสู่อันดับที่ 111 แล้ว จากเดิมอันดับที่ 150 เมื่อปี 2565

“แผนการลงทุนขยายโรงแรมในปี พ.ศ. 2567 นี้ เซ็นทาราเตรียมเปิดให้บริการโรงแรมทั้งในและต่างประเทศเพิ่มทั้งหมด 6 แห่ง และอยู่ระหว่างการศึกษาในตลาดเดิมๆที่จะขยาย และตลาดประเทศใหม่ๆที่จะลงทุนด้วย” นายธีระยุทธ กล่าว

ทั้งนี้โครงการในปีนี้้ประกอบด้วย ในไทย 3 แห่ง , ในสปป.ลาว 2 แห่ง และ อีก 1 แห่งในมัลดีฟส์
โดยในไทยนั้นประกอบด้วย เซ็นทารา ไลฟ์ ละไม รีสอร์ท สมุย เปิดบริการประมาณเดือนพฤษภาคมปีนี้, เซ็นทารา วิลลา เกาะพีพี จำนวน 40 ห้อง เป็นการปรับปรุงใหม่ เปิดบริการไตรมาสสี่ปีนี้, เซ็นทารา ไลฟ์ สุราษฎร์ธานี จำนวน 110 ห้อง เปิดบริการไตรมาสที่สี่ปีนี้

ส่วนที่ลาว คือ โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ , เซ็นทารา พลูมเมอเรีย รีสอร์ท ปากเซ ทั้ง5 แห่งข้างต้นนี้คือการรับบริหาร
ส่วนที่มัลดีฟส์ คือ เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 140 ห้อง เป็นการลงทุนเอง

โดยทิศทางยังคงเน้นโมเดล การรับจ้างบริหารโรงแรมและรีสอร์ทเป็นหลัก

ล่าสุด จำนวนโรงแรมในมือของเซ็นทารา ปัจจุบันเปิดบริการแล้วจำนวน 51 โรงแรม โดยแบ่งเป็นเจ้าของ 20 โรงแรม และ เป็นการรับบริหาร 31 โรงแรม

หากรวมทั้งที่เปิดแล้วและยังไม่เปิดบริการ มีรวม 95 แห่ง แบ่งเป็น เจ้าของเอง 22 แห่ง และที่้รับบบริหาร รวม 73 แห่ง


นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL กล่าวว่า เงินลงทุนปี2567นี้จะใช้ประมาณ 6,500 – 7,000 ล้านบาท (รวมงบประมาณด้านธุรกิจอาหารคือซีอาร์จีที่จะใช้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี ) และหากรวมลงทุนถึงปี 2569 รวมเป็น13,000 ล้านบาท รวมทั้งที่ร่วมลงทุนด้วย

สำหรับ“โรงแรมเซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์” ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2567 นี้ เป็นโครงการส่วนแรกของเซ็นทาราบนเกาะสวรรค์ในมาเล่ อะทอลล์เหนือ หนึ่งในเกาะในกลุ่มมัลดีฟส์ที่มีความสวยงามอย่างเหนือชั้น โดยจะสามารถเดินทางเข้าถึงได้โดยง่ายด้วยสปีดโบ๊ทเพียง 30 นาที จากท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา หรือที่มักเรียกว่า ท่าอากาศยานนานาชาติมาเล่ เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์นับเป็นโรงแรมภายใต้ธีมมิราจ แห่งที่ 4 ของโลก ต่อจากที่พัทยา มุยเน่ และดูไบ

โดยโรงแรมแห่งนี้ เป็นแบรนด์ธีมรีสอร์ทสำหรับครอบครัว ออกแบบมาให้โดดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์โลกใต้น้ำ มีสวนน้ำและกิจกรรมทางน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้ากลุ่มครอบครัว และต่อไปในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2568 เซ็นทารามีแผนจะเปิดให้บริการ “โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์” รีสอร์ทหรูขนาด 142 ห้องพักเป็นลำดับถัดไป นั่นจะทำให้นักเดินทางที่มาเยี่ยมเยือนเกาะในฝันแห่งนี้สามารถเพลิดเพลินไปกับตัวเลือกที่พัก 2 แบบ 2 สไตล์ในเครือเซ็นทารา


ที่มัลดีฟส์นีั้ตลาดกำลังเติบโตดี มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมาก ตอนนี้ทางการเขาก็กำลังเร่งดำเนินการขยายสนามบินเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ด้วย คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะสร้างเสร็จทั้งหมด ทำให้มีความสามารถรองรับได้ถึง 75 ล้านคนต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีอีกสองโรงแรมแฟลกชิปที่เซ็นทาราตั้งใจจะปรับโฉมครั้งใหญ่ในปีนี้ คือ เซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต (จำนวน 335 ห้องพัก) และเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา (จำนวน 553 ห้องพัก) และสำหรับการรีแบรนด์ เซ็นทาราได้ประกาศรีแบรนด์ “เซ็นทรา บาย เซ็นทารา” ให้เป็น “เซ็นทารา ไลฟ์” ในช่วงปลายปีที่แล้ว และมีแผนจะรีแบรนด์ “เซ็นทารา บูติก คอลเลกชัน” ต่อเนื่องในปีนี้เช่นกัน

โดย เซ็นทารามีแผนจะขยายแบรนด์ในเครือทั้ง 6 แบรนด์ ออกสู่หลากหลายจุดหมายปลายทางทั้งในและต่างประเทศ อาทิ แผนขยายแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ และโรงแรมในธีมมิราจไปในไทย, มัลดีฟส์, ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย รวมถึงแผนการเซ็นสัญญาขยายเครือข่ายพันธมิตรในตลาดสำคัญๆ อย่างจีนด้วยเช่นกัน

ทั้ง 6 แบรนด์ ประกอบด้วย Centara Reserve • Centara Boutique Collection • Centara Grand • Centara • Centara Life และ COSI ครอบคลุมตั้งแต่รีสอร์ทหรูบนเกาะที่เงียบสงบสำหรับครอบครัว ไปจนถึงโรงแรมไลฟ์สไตล์ในช่วงราคาที่จับต้องได้ ซึ่งผสมผสานกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการพักผ่อนที่ลงตัว เซ็นทาราเปิดตัวแบรนด์ใหม่สุดหรู “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” เป็นที่แรกที่สมุย ในปี 2564 เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย นำเสนอคอนเซ็ปท์ในการรังสรรค์ประสบการณ์การเข้าพักที่จะทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงการพักผ่อนอันหรูหราเหนือระดับ ทั้งยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำอันสุดแสนพิเศษเฉพาะตัว            โดยทั้งหมดกระขายอย่ํ฿ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ ศรีลังกา เวียดนาม ลาว เมียนมา จีน ญี่ปุ่น โอมาน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


ขณะที่ตลาดดูไบที่เพ่งเปิดบริการโรงแรมเมื่อช่วงโควิด ขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดี มีอัตราการเข้าพัก 80% ซึ่่งล่าสุดมีการคุยกับพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมทุนว่าจะมีการขยายพื้นที่เพิ่มในส่วนข้างๆ คาดว่าอาจจะเพิ่มได้อีก 200 ห้อง

“ตลาดใหม่ๆที่มีแนวโน้มจะขยายไปเช่น ยุโรป แอฟริกา โดยใช้ตะวันออกกลางเป็นฐานในการรุกตลาด ส่วนที่จีนก็มีหลายสัญญาแล้วก็จะขยายการรับบริหารมากขึ้นอีก เพราะตลาดจีนใหญ่มาก ส่วนที่ศรีลังกาก็มีการเจรจาที่จะรับบริหารเพิ่มอีกเช่นกัน หลังจากที่มีแล้ว 1 แห่ง” นายธีระยุทธ กล่าว

นอกนั้นก็มี ที่เวียดนาม ที่มีในมือแล้ว 9 แห่ง เปิดบริการแล้ว 1 แห่่ง จำนวน 984 ห้อง นอกนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งหมดมากกว่า 3,900 ห้อง

“ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่น่าตื่นเต้นของเซ็นทารา ทั้งการฉลองครบรอบ 40 ปี ของโรงแรมและ รีสอร์ทในเครือเซ็นทาราและการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งผมเชื่อว่า ปี พ.ศ. 2567 นี้ จะเป็นอีกปีที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน ทั้งการขยายแบรนด์โรงแรมทั้ง 6 แบรนด์ไปสู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อตอกย้ำความเป็นเครือโรงแรมชั้นนำ และการขยายเครือข่ายโรงแรมของเซ็นทาราให้ครอบคลุมทั้งหัวเมืองหลักและรองทั่วไทย” ไมเคิล เฮนสเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าว


เซ็นทารามีระบบโปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน (CentaraThe1) เพื่อยกระดับประสบการณ์การบริการ และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า โดยสมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน สามารถสะสมคะแนน แลกคะแนนเป็นสิทธิต่างๆ และได้รับบริการพิเศษเสริมต่างๆ เมื่อเข้าพักที่เซ็นทารา รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีอย่างระบบแชทบอทและแอปพลิเคชันเข้ามา เพื่อให้การจองห้องพักของลูกค้าเป็นไปอย่างง่ายดายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

เซ็นทารายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะแรกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2572 เทียบจากฐานปี พ.ศ. 2562 โดยได้มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างจริงจัง ผ่านแผนการดำเนินงานต่างๆ อีกทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราได้ผ่านการรับรองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก Global Sustainable Tourism Council – GSTC จำนวน 24 แห่ง และผ่านการรับรองจาก Green Key จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวที่ผ่านการรับรองสถานะ GSTC-Recognized เช่นกัน





กำลังโหลดความคิดเห็น