xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านปู”จัดทัพก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ส่งไม้ต่อ“สินนท์ ว่องกุศลกิจ”CEOคนใหม่ ชูวิสัยทัศน์นำพาองค์กรฝ่ามรสุมวิกฤตโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประกาศแต่งตั้ง“สินนท์ ว่องกุศลกิจ”ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู(BANPU)อย่างเป็นทางการต่อจาก”สมฤดี ชัยมงคล” ที่เข้ามาทำงานเพาะบ่มประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจในองค์กรบ้านมาร่วม 10ปีจนเป็นที่รู้กันดีเป็นบุคคลที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้นำบ้านปู ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ที่นับวันทวีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน การเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด นับเป็นสิ่งท้าทายวัดฝีมือทายาทของ”ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการ บ้านปู

“บ้านปู” บริษัทพลังงานไทยที่เริ่มต้นจากบริษัทเล็กๆในธุรกิจเหมืองถ่านหินที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเมื่อ40 ปีที่แล้ว ก่อนขยับขยายการลงทุนเติบโตในต่างแดน เริ่มจากทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน แตกไลน์ต่อยอดสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่เมื่อโลกเริ่มตระหนักปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บ้านปูจึงปรับแผนธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด แต่ถ้าจะเป็นพลังงานทดแทน 100% ไม่ใช่คำตอบในช่วงนั้น เพราะไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ทันและกระแสเงินสดทำได้น้อย ดังนั้น บ้านปูวิเคราะห์เห็นว่าธุรกิจก๊าซธรรมชาติน่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะเป็นพลังงานที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง มีตลาดรองรับ สร้างกระแสเงินสดได้มาก จึงเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในอนาคต ควบคู่กับการลดบทบาทในธุรกิจถ่านหินลง

ในช่วง 10ปีก่อน นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ซีอีโอบ้านปูยุคนั้นได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจก๊าซฯ จึงได้ศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่นั่น นับเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุนแหล่งก๊าซฯในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2558 จนปัจจุบันบ้านปู มีการลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่ง คือแหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ ในรัฐเท็กซัส ปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตก๊าซฯรายใหญ่สุดในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 2564 บ้านปูยังได้ต่อยอดการลงทุนสู่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “Temple I” ในสหรัฐฯ ขนาดกำลังผลิต 768 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) และเมื่อปีที่แล้วก็ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้า Temple ll ที่อยู่ติดกันโรงไฟฟ้าTemple l มีการSynergy ร่วมกันทำให้ปี2566 ธุรกิจไฟฟ้าเติบโตอย่างมีนัยะ

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ CEOคนใหม่ บ้านปู (เริ่มมีผลวันที่ 2 เมษายน 2567เป็นต้นไป) กล่าวแนวทางการดำเนินธุรกิจว่า การบริหารงานของบ้านปูในช่วงปี2567-2568 ยังคงสานต่อกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเร่งทรานฟอร์มสู่พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้นตามเทรนด์โลก โดยปี2567 เน้นการเติบโตของกระแสเงินสด โดยทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องวางแผนลดต้นทุนการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ มีกำไรเพิ่มมากขึ้น และเตรียมพร้อมรองรับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

บ้านปูมีจุดแข็งในธุรกิจUp Stream ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหินและธุรกิจก๊าซ รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขณะที่ผมสนใจธุรกิจDown Stream ที่เกี่ยวกับ Climate Tech หรือเทคโนโลยีที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแบตเตอรี่ พลังงานทดแทน รวมถึงโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ที่ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในโครงการ Barnett Zero ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2แสนตัน ซึ่งในอนาคตยังมีโครงการCCUSเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นโครงการCotton Cove และโครงการ HighWest ช่วยหนุนให้ธุรกิจก๊าซบ้านปูเป็นGreen Gas สามารถขายได้ในราคาพรีเมียม




ทุ่มงบลงทุน 700ล้านเหรียญสหรัฐในปี67-68

สำหรับงบลงทุนในปี2567 บ้านปูตั้งงบลงทุนไว้ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติราว 50% และที่เหลือลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของ บริษัทลูก คือบ้านปู เน็กซ์ โดยให้ความสำคัญในธุรกิจแบตเตอรี่มากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

ทั้งนี้ บ้านปู เน็กซ์ ได้ลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งโรงงานผลิตแพ็คแบตเตอรี่(Battery Pack) สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ ในไทย กำลังผลิต 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ป้อนค่ายรถอีวีอย่างเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM)ไม่ว่าจะเป็นรถรุ่น ORA, Haval, Tank รวมถึงค่ายโฮซอน มอเตอร์ ล่าสุดเพิ่งได้เปิดสายการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คาดว่าปีนี้โรงงาน SVOLT Thailand จะส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในไทยได้มากกว่า 20,000 ชุดตามความต้องการตลาด และจะเพิ่มเป็น 60,000ชุดหรือราว 2GWhในปี2568 นับเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ไทยก้าวสู่ความเป็นฮับแบตเตอรี่ในภูมิภาคนี้

สำหรับโรงงาน SVOLT Thailand ใช้เวลาในก่อสร้างและเปิดทำการเพียง 5เดือน โดนนำมาตรฐานการผลิตและเทคโนโลยีล้ำสมัยจากประเทศจีนมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม กระบวนการผลิต และอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่โดยเฉพาะ ผสานหลายเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI อาทิ ระบบการตรวจสอบและวิเคราะห์ด้วยดิจิทัล รวมถึงระบบการติดตามและวิเคราะห์คุณภาพอย่างเต็มรูปแบบ สอดรับกับนโยบาย EV 3.5 ของภาครัฐ ทั้งยังมีสายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถสลับการผลิตแบตเตอรี่แต่ละประเภทได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ บ้านปู เน็กซ์ ยังร่วมกับ SVOLT ศึกษาความเป็นไปในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ในอีก 2ปีข้างหน้า รวมทั้งมีแผนตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ และบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งบ้านปูมีแผนจะนำแบตเตอรี่SVOLTมาใช้ในระบบกักเก็บพลังงานป้อนในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Battery Farm) ที่บ้านปูเล็งเห็นโอกาสในการรุกโครงการดังกล่าวทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมทั้งญี่ปุ่นที่มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี ปัจจุบันกลุ่มบ้านปูได้มีการลงทุนในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ มีกำลังกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 58 เมกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ จังหวัดอิวาเตะ ในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะCOD ในไตรมาส 2 ปี2568

นอกเหนือจากการร่วมมือกับSVOLTแล้ว บ้านปูเน็กซ์ ได้ร่วมทุนกับดูราเพาเวอร์ ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในนิคมฯอมตะ ซิตี้ จังหวัดชลบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1 GWh คาด CODในไตรมาส 3/2567 เพื่อป้อนตลาดรถโดยสารไฟฟ้า( e-Bus) ในไทยและภูมิภาคนี้ ล่าสุดมีสัญญาซื้อขายแบตเตอรี่จากลูกค้าแล้ว 3ราย


จากเหมืองถ่านหินสู่เหมืองทอง-ทองแดง

นายสินนท์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทไม่มีนโยบายลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจถ่านหินอีกต่อไป ทำให้รายได้และกระแสเงินสดส่วนใหญ่ที่เคยมาจากการผลิตและขายถ่านหินในอนาคตจะเริ่มมีสัดส่วนที่ลดลง โดยมีธุรกิจก๊าซฯ ธุรกิจไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานเพิ่มเข้ามามากขึ้นสอดรับเป้าหมายบ้านปูการมุ่งโตธุรกิจกรีนมากขึ้นแต่เนื่องจากบ้านปูมีจุดแข็งในการทำเหมือง มีบุคลกรที่ทีความชำนาญด้านนี้จึงเห็นโอกาสในการขยายการลงทุนธุรกิจ Strategic Minerals ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทองคำ ทองแดง รวมถึงนิกเกิล ในประเทศลาวและอินโดนีเซีย โดยจะลงทุนในรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เนื่องจากทั้ง2ประเทศนี้มีแหล่งสำรองแร่มาก คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ บ้านปูฯยังศึกษาพลังงานอนาคตอย่างไฮโดรเจนและแอมโมเนีย หลังจากมีการนำแอมโมเนียไปใช้ผสม20%ในผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่จังหวัดระยอง เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Mitsubishi Corporation และ Chiyoda Corporation เพื่อศึกษาเทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) สำหรับหน่วยผลิตทั้ง 2 หน่วยอีกด้วย

สำหรับผลประกอบบ้านปูในปี2567 คาดว่าเติบโตกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 179,619 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 160 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเทียบเท่า5,434.06 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินจะปรับตัวดีขึ้น คาดว่าปีนี้ราคาถ่านหินเฉลี่ย 125เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ถ่านหินยังเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในตลาดอินเดียและจีน ส่วนราคาก๊าซฯก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นคาดว่าปีนี้เฉลี่ยที่2.5เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ดังนั้นบ้านปูคงรักษาการผลิตถ่านหินในปีนี้ไว้ที่ 38 ล้านตัน/ปี แบ่งเป็นอินโดนีเซีย 20ล้านตัน ออสเตรเลีย 8 ล้านตันและจีน 10ล้านตัน ส่วนการผลิตก๊าซฯในสหรัฐฯจะมีกำลังการผลิตใกล้เคียงปีก่อนที่ระดับ 314,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยบ้านปูมีแผนนำบริษัทย่อย BKV Corporation (BKV) ผู้ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าก๊าซรายใหญ่ของสหรัฐฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ค หากราคาก๊าซฯอยู่ในระดับที่ดี ก็มีโอกาสที่จะดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567


BPPลั่นกลางปีนี้ปิดดีลฮุบโรงไฟฟ้าก๊าซฯเพิ่มในสหรัฐฯ

ด้านนายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งในวันที่2เมษายนนี้จะโยกย้ายเข้าไปเป็นหนึ่งทีมผู้บริหารบ้านปูที่ดูแลธุรกิจไฟฟ้าและอื่นๆ กล่าวว่าในปีนี้ บริษัทยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่นับวันรุนแรง ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอัตราดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ธุรกิจบ้านปูต้องมีความแข็งแกร่ง ลดต้นทุนต่อหน่วย และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้มาร์จินธุรกิจดีขึ้น เช่นเหมืองถ่านหินมีเป้าหมายลดต้นทุนต่อหน่วยลง ขณะเดียวกันเตรียมนำรถบรรทุกอีวีมาใช้ในเหมืองที่อินโดนีเซียเพื่อลดการใช้ดีเซล หลังจากมีการใช้ในเหมืองที่ลาวป้อนโรงไฟฟ้าหงสาเป็นต้น

สำหรับ BPP การเติบโตของบริษัทมาจากการควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A)ดังนั้นในครึ่งแรกปี2567 จะปิดดีลการทำM&Aโรงไฟฟ้าก๊าซฯเพิ่มเติมในสหรัฐ โดยโรงไฟฟ้าใหม่นี้BPP จะถือหุ้นราว 25-30%หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 100-200เมกะวัตต์ หลังจากก่อนหน้านี้BPPได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ที่รัฐเท็กซัส คิดกำลังการผลิตรวม 1,500 เมกะวัตต์

ดังนั้นผลการดำเนินงานของBPPในปีนี้ มั่นใจว่าเติบโตขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 30,443 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 12,262 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,319 ล้านบาท

นอกจากนี้ BPPยังมองโอกาสเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในประเทศที่กลุ่มบ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะจีน และอินโดนีเซีย รวมถึงมองการเข้าลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน เช่น ธุรกิจสายส่ง การขนส่งพลังงาน ฯลฯ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปี2567 และเตรียมลงทุนโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มในพื้นที่โรงไฟฟ้าTemple ll ซึ่งรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ 100 เมกะวัตต์ แต่จะติดตั้งเท่าใดขึ้นอยู่กับภาพรวมตลาด คาดว่าจะมีข้อสรุปในปีนี้เช่นกัน

สำหรับงบลงทุนในปี2567-2568 BPPตั้งไว้ที่ 500ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติม จึงมั่นใจว่าบริษัทบรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5,300เมกะวัตต์ในปี2568 จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 3,642 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์แล้ว 39โครงการ กำลังผลิตรวม 3,534 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก2โครงการ กำลังการผลิตรวม 108 เมกะวัตต์


“สินนท์”ถูกวางตัวเป็นซีอีโอมาหลายปีแล้ว

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู กล่าวว่าในปี2567เป็นปีที่มีสิ่งใหม่ๆเข้ามา รวมถึงการเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร (Leadership Transformation) โดยนายสินนท์ ขึ้นมารับตำแหน่งซีโอโอบ้านปูคนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 2เมษายนเป็นต้นไป พร้อมให้ความเชื่อมั่น1,000% ว่าซีอีโอคนใหม่จะสามารถต่อยอด Transformation ของบ้านปูให้เติบโตต่อเนื่อง

นายสินนท์ เป็นบุตรชายของนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบมจ.บ้านปู สําเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาโท Global Management pathway in Finance and Business Development มหาวิทยาลัย Regent's University และ หลักสูตรปริญญาตรี Business and Marketing Management มหาวิยาลัย Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ โดยเข้าทำงานในกับบ้านปูเมื่อปี 2557 ดูแลรับผิดชอบงานด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่หลากหลาย ทางด้านการเงิน การลงทุนการจัดการโครงการระหว่างประเทศ มีส่วนร่วมในโครงการเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญทั้งการตัดสินใจด้านการเป็นและสินทรัพย์การบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจให้เติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter

จากประสบการณ์ในองค์กรบ้านปูมาร่วม10ปีของนายสินนท์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กร(Banpu Transformation) ตลอดจนมีบทบาทในการนำบมจ.บ้านปูเพาเวอร์ เข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯในปี 2559 การควบรวมกิจการของบริษัทในกลุ่มบ้านปูเพื่อก่อตั้งบ้านปู เน็กซ์ และการขายบริษัทSunseap GroupPte,Ltd. (Sunseap) นายสินนท์จึงได้ผ่านมีการคัดเลือกและวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเมื่อหลายปีก่อน และเตรียมความพร้อมที่จะให้มารับตำแหน่งซีอีโอ แม้ว่านายสินนท์จะมีอายุเพียง 34ปี แต่ไม่ใช่อุปสรรค นับเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ และประสบการณ์เพื่อนำพากลุ่มบ้านปูก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามแผนงานในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น