xs
xsm
sm
md
lg

สนพ. เกาะติดราคาน้ำมันโลกใกล้ชิดยังมีทิศทางผันผวน-บาทแข็งหนุนต้นทุนลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนพ. เกาะติดสถานการณ์น้ำมันตลาดโลกใกล้ชิดพบว่าคงมีทิศทางผันผวนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของเฟด เผยค่าเงินบาทที่แข็งค่าช่วยค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเบนซินและดีเซลลดลง


นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก (ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567) พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 81.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 78.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับสถานการณ์ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย พบว่า ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 104.01 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36.08 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.09 บาทต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.48 บาทต่อลิตร จึงส่งผลทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซินและน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.43 บาท/ลิตร ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 10 มีนาคม 2567 ฐานะกองทุนฯ สุทธิติดลบ 94,883 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 48,047 ล้านบาท บัญชี LPG 46,836 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สนพ. จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคาสะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน

“ สนพ.จับตามองในด้านต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางมีความตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยอมรับว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่ FED คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ความท้าทายจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะบริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่หนุนอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูงที่อาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในอนาคตได้”นายวีรพัฒน์กล่าว

สำหรับ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขึ้นจากระดับร้อยละ 2.7 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.9 หลัง OECD คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ส่งผลให้ OECD คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โรงกลั่นสหรัฐฯ มีแผนเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.6 ในปี 2567 ฯลฯ


“ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและต่างประเทศ ณ วันที่26 กุมภาพันธ์2567 พบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ประเทศสิงคโปร์มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 77.45 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 38.05 บาทต่อลิตร ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น ประเทศสิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 72.36 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น